รีเซต

ชาวสวน 'ทุเรียนนนท์' โอด น้ำท่วมนานกว่า 2 อาทิตย์ ไร้การช่วยเหลือจากภาครัฐ

ชาวสวน 'ทุเรียนนนท์' โอด น้ำท่วมนานกว่า 2 อาทิตย์ ไร้การช่วยเหลือจากภาครัฐ
มติชน
11 ตุลาคม 2565 ( 20:38 )
74
ชาวสวน 'ทุเรียนนนท์' โอด น้ำท่วมนานกว่า 2 อาทิตย์ ไร้การช่วยเหลือจากภาครัฐ

เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 11 ต.ค.65 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังบ้านเลขที่ 45/4 ม.4 ต.บางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี พบนาง ศุภรา ช้างลำลี อายุ 60 ปี เจ้าของสวนทุเรียนซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ได้รับผลกระทบหนักจากน้ำท่วมมาแล้วนานกว่า 2 อาทิตย์ ทำให้ต้นทุเรียนและไม้ผลหลายชนิดที่ปลูกไว้ในสวนเสียหายทั้งหมด มูลค่าหลายแสนบาท ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือดูแลจากหน่วยงานใดๆ ทั้งที่ตนเองก็มีชื่ออยู่ในทะเบียนเกษตรกรอำเภอบางกรวย

นางศุภรา กล่าวว่า ในพื้นที่แถวนี้ มีการทำสวนปลูกทุเรียนประมาณ 6-7 สวน แต่ละแห่งก็โดนน้ำเข้าท่วมหมด เจ้าของบางคนก็สามารถจัดการน้ำที่เอ่อท่วมเข้ามาในสวนของตนเองได้ บางสวนที่ไม่มีกำลังหรืออุปกรณ์ช่วยก็ต้องปล่อยให้จมน้ำยืนเน่าต่อไปอย่างสวนของตน ก่อนหน้านี้เคยเอาเครื่องสูบน้ำมาติดตั้ง แต่ปริมาณมวลน้ำค่อนข้างมาเยอะ เครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกไม่ทันจนจมอยู่ใต้น้ำ เลยต้องปล่อยให้จมไป ส่วนพื้นที่ด้านหลังสวนก็ติดกับหมู่บ้านเวลาฝนตกลงมา น้ำก็จะถูกระบายเข้ามาที่ในสวนของตนด้วย เพราะที่ดินของตนอยู่ต่ำกว่าที่ของหมู่บ้าน ซึ่งด้านข้างเป็นคลองเล็กๆ

 

 

ซึ่งเวลาสูบน้ำจะต้องสูบออกลงคลองนี้ แต่อีกฝั่งก็เป็นที่นาของเพื่อนบ้านและอยู่ต่ำกว่าระดับสวนของตนอีก เคยเอาเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกไปทางคลอง แต่ตอนนี้น้ำในคลองล้นเยอะ กลายเป็นเขามองว่าเราเอาปริมาณน้ำในที่สวนของเราไปปล่อยระบายลงในที่นาของเขาแทน เลยเลือกที่จะไม่มีปัญหาดีกว่าปล่อยให้สวนของเราจมไป

ตอนนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานลงมาดูแลหรือให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด ทั้งๆที่ตนเองเคยลงทะเบียนและมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของเกษตรกร อำเภอบางกรวย ก็ยังไม่รู้ว่าต้องทำยังไงหรือต้องไปติดต่อประสานงานกันที่ใด ตอนนี้ก็หวังว่าระดับน้ำจะลดลงเร็วๆ แต่ตนก็ไม่มีทุนจะไปซื้อต้นกล้าทุเรียนมาปลูกแล้ว คิดว่าถ้าหากจะมีหน่วยงานไหนจะเข้ามาช่วยเหลือก็อยากให้ช่วยหาพันธุ์กล้าต้นทุเรียนมาให้ตนก็จะดีมาก เพราะเงินที่มีอยู่ต้องใช้รักษาสามีที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตอนนี้ไม่ท้อพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ต่อให้รอบนี้ต้นทุเรียนจะตายหมดแต่ก็พร้อมสู้ใหม่

 


นายสุชาติ(นามสมมุติ)เจ้าของสวนทุเรียนอีกสวนฝั่งนึง เล่าว่า สวนของตนก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและฝนตกเช่นกัน เมื่อวานเพิ่งจะสูบออกจนระดับน้ำเป็นปกติ แต่พอมาเมื่อคืนฝนตก ระดับน้ำก็สูงขึ้นจนท่วมสวนทั้งสวน กลางดึกตนจึงต้องรีบออกมาใช้เครื่องสูบน้ำระบายออกจากสวน จนถึงบ่ายๆของวันนี้ระดับน้ำก็ยังสูงอยู่แต่ไม่น่าห่วงแล้ว ตอนนี้กลัวว่าต้นทุเรียนที่ตนปลูกจะยืนต้นตายซะก่อน เพราะลงทุนไปเยอะและยังไม่ได้กำไรจากการทำสวนในครั้งนี้เลย เพราต้นทุเรียนตนเพิ่งจะปลูกได้แค่เพียง 3ปีเท่านั้น ถ้าต้องเสียทั้งหมดก็หมดเลย ไม่มีทุนเหลือไปซื้อต้นกล้าพันธุ์ทุเรียนอีกแล้ว หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ยังไม่เห็นมีเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด เคยเข้าไปที่เทศบาลก็ให้มาแค่กระสอบทรายไม่กี่ใบ เวลาน้ำท่วมนอกจากสวนของตนแล้วยังมีชาวบ้านหลังอื่นๆที่เดือดร้อน ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่าพื้นที่ที่มีน้ำท่วมอยู่ในจ.นนทบุรี ตอนนี้ต้องบอกว่ามันมีทั้งน้ำที่ไหลเอ่อลงมาจากทางเหนือมีทั้งในเขตแนวกระสอบทรายและนอกเขตกระสอบทราย และบริเวณนอกแนวกระสอบทรายคือชุมชนบริเวณริมน้ำเกือบทั้งหมด ส่วนในแนวเขื่อนป้องกันหรือแนวกระสอบทรายมันมีบางจุดที่น้ำทะลักเข้ามา แต่ทางหน่วยงานท้องถิ่นก็พยายามป้องกันไม่ให้น้ำล้นเข้ามาในพื้นที่ เพราะถ้าไม้ป้องกันน้ำก็จะไหลทะลักเข้ามาท่วมชุมชนต่างๆ

 

 

หรือบริเวณที่กลับรถใต้สะพาน จุดที่ไปทำการตรวจสอบมาแล้วก็จะมีใต้สะพานพระนั่งเกล้า,สะพานพระราม5 ถือว่าเป็นจุดใหญ่ๆ ซึ่งก็ได้สั่งการไปทั้งทางหลวงชนบท แขวงทางหลวง และทางเทศบาลต่างๆ ให้ลงไปช่วยกันดูแลป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้ามามากจนเกินไป และเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมา ปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนบางไทร ประมาณ 3,109 ลบ/เมตร แต่เมื่อวานระดับน้ำด้วยน้ำทะเลหนุนด้วยทำให้ระดับน้ำสูงถึง 2.50เมตร ส่งผลทำให้กระสอบทรายหลายจุดพังทลาย ในเรื่องของการช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม

 

 

เบื้องต้นทางหน่วยงานท้องถิ่นก็อยากให้พี่น้องประชาชนได้เดินทางสะดวก บางจุดที่มีน้ำท่วมสูงก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสร้างสะพานไม้สำหรับสัญจรก่อน หรือบางจุดทีไม่สามารถสร้างสะพานไม้ได้ก็ได้ให้นำเรือพลาสติกเข้าไปในชุมชุนเพื่อใช้เดินทางเข้าออก ส่วนในเรื่องของถุงยังชีพตามที่ทางจังหวัดนนทบุรีได้มีประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยและเขตความช่วยเหลือใน 5 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอบางกรวย เพื่อที่จะใช้งบประมาณตามกฏ ระเบียบของกระทรวงการคลังมาช่วยพี่น้องประชาชน หากหน่วยงานต่างๆเข้าไปช่วยเหลือแล้วขาดเหลืออะไร จากข้อมูลเบื้องต้นมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 27,101 ครัวเรือน

 

 

ในส่วนของพื้นที่ที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจของจังหวัดนนทบุรีมีซึ่งมีความกังวลสูงเะราะนอกจากพื้นที่เศรษฐกิจแล้ว ถนนก็สำคัญเช่นกันเพราะเราต้องป้องกันในส่วนของถนนด้วย แต่ตามที่คุยกันพื้นที่เศรษฐกิจในส่วนของ อำเภอเมือง และอำเภอต่างๆทางใงตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็สามารถที่จะดูแลควบคุมได้ แต่ทางพื้นที่ฝั่งตะวันตกเนื่องจากพนังกั้นน้ำบางแห่งยังเป็นลักษณะฟันหล่ออยู่ ท่าน้ำยกระดับสูงขึ้นก็อาจจะล้นข้ามออกไปเข้าสู่พื้นที่ได้ ซึ่งทางจังหวัดนนทบุรีได้เคยเสนอไปว่า อย่าปล่อยน้ำเกินกว่า 3,100 ลบ.ม ต่อวินาที เพราะหากปล่อยเกินมาทางเราก็ไม่รู้ว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงเท่าไร ฝนจะตกเพิ่มอีกเท่าไรแต่ยังไงทางหน่วยงานทุกหน่วยก็พร้อมรับมือและลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนอยู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง