บางกอกแอร์ กระอัก ไตรมาส 3 ปี'64 ขาดทุนเฉียด 7 พันล้านบาท
บางกอกแอร์ เผยผลประกอบการ ไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุน เกือบ 7 พันล้านบาท หลังหยุดบินยาว 2 เดือน จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล
วันนี้(16พ.ย.)นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564ว่า มีผลขาดทุนทางบัญชีจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนสนามบินสมุย 5,434.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-off transaction) และมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,243.8 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 6,987.3 ล้านบาท
ขณะที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 672.3 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.3 % เป็นผลจากการหยุดการปฏิบัติการบินชั่วคราวตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 และกลับมาทำการบินอีกครั้งในเดือน ก.ย. 2564 ในเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-สุโขทัย, กรุงเทพฯ-ลำปาง และกรุงเทพ-ภูเก็ต
ส่วนผลประกอบการ งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้ 3,472.4 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 57.5% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้บัตรโดยสารของธุรกิจสายการบินและธุรกิจสนามบิน ลดลงจากปีก่อน 88.3% และ 85.0% ตามลำดับ มีจำนวนเที่ยวบินลดลง 75.9 % และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร 55.2% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 6,083.2 ล้านบาท ลดลง51.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,587.4 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้วางแผนปฏิบัติการบินให้เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเปิดให้บริการเที่ยวบินพิเศษภายใต้โครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ ได้แก่ โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสโมเดล เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยยังคงปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรเงินลงทุนในบริษัทร่วม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 413.4 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด