รีเซต

เศรษฐกิจฟื้นปี’65! จีดีพีไทยดิ่งลึกสุดในประวัติศาสตร์ ไตรมาส 2 ทะลุ -12.5%

เศรษฐกิจฟื้นปี’65! จีดีพีไทยดิ่งลึกสุดในประวัติศาสตร์ ไตรมาส 2 ทะลุ -12.5%
ข่าวสด
31 กรกฎาคม 2563 ( 15:38 )
40

 

เศรษฐกิจฟื้นปี’65! จีดีพีไทยดิ่งลึกสุดในประวัติศาสตร์ ไตรมาส 2 ทะลุ -12.5% และน่าจะผ่านจุดจต่ำสุดไปแล้ว แม้เริ่มเห็นทิศทางฟื้นตัวแล้ว แต่ก็กลับเป็นปกติในปี’65

เศรษฐกิจฟื้นปี’65 - นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ในไตรมาส 2/2563 หดตัวสูง ในระดับ 2 หลักต้นๆ จากผลของมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว โดยอุปสงค์ต่างประเทศหดตัวสูง ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูง มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้และมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ

“เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ไตรมาส 2/2563 ซึ่งถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวลึก และลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบจากไตรมาส 2/2541 ที่จีดีพีติดลบ 12.5% ซึ่งในครั้งนี้ก็คาดว่ามีโอกาสที่จะติดลบมากกว่าระดับดังกล่าว จากมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย โดยมาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อเครื่องชี้เศรษฐกิจทุกตัว การส่งออก การนำเข้า การลงทุน การบริโภค มีเพียงภาครัฐที่ยังขยายตัวได้ โดยจากทิศทางที่ดีขึ้นทำให้มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนจะกลับมาเติบโตปกติก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 คงต้องรอไปถึงปี 2565 ดังนั้นการเห็นเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นน่าจะทำให้สบายใจขึ้นว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ลงต่อ แต่ระยะต่อไปก็ยังมีความท้าทายรออยู่ด้วย” นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวอีกว่า การทำประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่ของ ธปท. จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 8.1% จะต้องรอตัวเลขอย่างเป็นทางการในไตรมาส 2/2563 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ถ้าตัวเลขไตรมาส 2 ดีกว่าที่คาดไว้ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายกว่าที่คิด ก็จะส่งผลให้การปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ติดลบน้อยลง แต่ทั้งหมดต้องรอเดือนก.ย. จะเห็นภาพชัดเจนที่สุด เพราะเศรษฐกิจไตรมาส 3/2563 จะเป็นตัวตัดสินว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังเห็นการระบาดรุนแรงในหลายประเทศ ทำให้ต้องจับตาดูว่าจะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นหรือไม่ ถ้ามีการใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นอีกก็จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ การ์ดอย่างเพิ่งตก เพราะหนทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในส่วนการเยียวยาและฟื้นฟูยังอีกยาวไกล ดังนั้นเงินที่มีต้องใช้ให้ถูกจุดและทันการ ถ้าสถานการณ์เลวร้ายอาจจะต้องพร้อมที่จะต้องเพิ่มมาตรการ

นายดอน กล่าวอีกว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีเมื่อเทียบกับภูมิภาคก็มีทิศทางอ่อนค่า แม้ว่าค่าเงินจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในเดือนมิ.ย. แต่ก็ปรับอ่อนค่าลงในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน จ.ระยอง การเดินทางของกลุ่ม VIP รวมถึงความไม่แน่นอนด้านการเมือง และความไม่เชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย. 2563 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน หมายถึงหดตัวน้อยลงจากระดับที่หดตัวสูง จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 24.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยอัตราหดตัวของมูลค่าสินค้าส่งออกยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนรายได้ของประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ หมวดสินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้า หดตัว 18.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมถึงสินค้าทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ยังหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายปรับดีขึ้นในทุกหมวดเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงได้รับสนับสนุนต่อเนื่องจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น

ในส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ในและต่างประเทศที่อ่อนแอ กำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่แม้ปรับดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน ทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามกาเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางเพื่อซ่อมบำรุงถนน ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ทั้งนี้ ในส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบต่อเนื่อง แม้จะน้อยลงจากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบเล็กน้อย สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิทั้งด้านสินทรัพย์จากการขายสุทธิตราสารหนี้และการถอนเงินฝากในต่างประเทศของนักลงทุนไทย และด้านหนี้สินจากการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยังเห็นตลาดแรงงานที่มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยังไม่น่าไว้วางใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง