รีเซต

ศึกษาพบ 'ค้างคาว' อาจแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่บ่อยกว่าที่คิด

ศึกษาพบ 'ค้างคาว' อาจแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่บ่อยกว่าที่คิด
Xinhua
30 กันยายน 2564 ( 12:08 )
35
ศึกษาพบ 'ค้างคาว' อาจแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่บ่อยกว่าที่คิด

เบอร์ลิน, 30 ก.ย. (ซินหัว) -- สื่อท้องถิ่นเยอรมนีรายงานว่าการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากสัตว์สู่คนอาจเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ่อยครั้งกว่าที่เคยคาดคิดไว้

 

 

การศึกษาที่นำโดยเซซิเลีย ซานเชซ จากอีโคเฮลธ์ อะลิอันซ์ (EcoHealth Alliance) องค์กรไม่แสวงกำไรที่วิจัยโรคอุบัติใหม่ทั่วโลก กล่าวว่า "หลักฐานที่พบแสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกี่ยวข้องกับโรคซาร์ส (SARSr-CoVs) ของค้างคาวบางชนิดสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้โดยตรง และการแพร่กระจายของเชื้อนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าที่เคยรับรู้มาก่อน"

 

 

เหล่านักวิจัยลงความเห็นโดยใช้การจับคู่ข้อมูลการกระจายตัวของค้างคาวกับความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่อยู่อาศัยและกิจกรรมของมนุษย์และสัตว์ที่ทับซ้อนกัน ระบุว่าแต่ละปีอาจมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกี่ยวข้องกับโรคซาร์สประมาณ 400,000 ครั้ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

คณะวิจัยได้เสริมข้อมูลจากจุดที่อาจเกิดการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างสัตว์-มนุษย์เป็นประจำ กับผลการทดสอบแอนติบอดีแบบสุ่มในตัวอย่างเลือดมนุษย์ที่เก็บรวบรวมก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในปัจจุบัน

 

 

พื้นที่ทางตอนใต้ของจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีค้างคาว 23 สายพันธุ์ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกี่ยวข้องกับโรคซาร์ส โดยพวกมันกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ราว 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรประมาณ 478 ล้านคน

 

 

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยยังร่างแผนที่สถานที่ที่ผู้คนในบางภูมิภาคอาจเคยสัมผัสกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกี่ยวข้องกับโรคซาร์สจากค้างคาว โดยการศึกษาระบุว่า "ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิศาสตร์และขนาดการแพร่กระจายเหล่านี้สามารถใช้กำหนดแผนการควบคุมและป้องกันการอุบัติของเชื้อไวรัสโคโรนาจากค้างคาว (bat-CoV) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง