รีเซต

ชาวญี่ปุ่น6คนฟ้องTEPCO ชดใช้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ หลังภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

ชาวญี่ปุ่น6คนฟ้องTEPCO ชดใช้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ หลังภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
ข่าวสด
27 มกราคม 2565 ( 13:30 )
75
ชาวญี่ปุ่น6คนฟ้องTEPCO ชดใช้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ หลังภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

ชาวญี่ปุ่น6คนฟ้องTEPCO - วันที่ 27 ม.ค. เอเอฟพี รายงานว่า ชาวญี่ปุ่น 6 คน จะฟ้องผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่น โดยอ้างว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ เนื่องจากได้รับรังสีหลังโรงไฟฟ้าดังกล่าวหลอมละลาย

 

โจทก์ 6 คน ที่ตอนนี้มีอายุระหว่าง 17-27 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดฟูกูชิมะตอนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554

 

เคนอิจิ อิโด หัวหน้าทนายความ ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า โจทก์จะยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) เพื่อขอค่าชดเชยทั้งหมด 616 ล้านเยน (ราว 178 ล้านบาท)

 

ยังไม่มีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างการได้รับรังสีจากภัยพิบัตินิวเคลียร์และมะเร็งไทรอยด์ ที่ได้รับการยอมรับจากคณะผู้เชี่ยวชาญที่จัดตั้งโดยรัฐบาลระดับภูมิภาค และความเชื่อมโยงที่มีอยู่ดังกล่าวจะกลายเป็นประเด็นสำคัญของคดีหรือไม่

 

รายงานสหประชาชาติตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วสรุปว่า ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของชาวท้องถิ่น 10 ปีหลังภัยพิบัติดังกล่าว ขณะที่คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติว่าด้วยผลกระทบของการแผ่รังสีปรมาณูสรุปว่า อัตราการตรวจพบของมะเร็งไทรอยด์ที่สูงขึ้นในหมู่เด็กที่ได้รับรังสีมีแนมโน้มเกิดจากการวินิจฉัยที่ดีขึ้น

 

แต่ทนายความของโจทก์กล่าวว่า มะเร็งในกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ โดยอ้างว่ามีความเป็นไปได้สูงที่โรคนี้มีแนวโน้มเกิดจากการได้รับรังสี "โจทก์บางคนประสบปัญหาในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาและการหางานทำ และถึงกับละทิ้งความฝันเพื่ออนาคตของตัวเอง" นายอิโตกล่าว

 

โจทก์ 6 คน ซึ่งจะยื่นฟ้องต่อศาลแขวงโตเกียว มีอายุระหว่าง 6-16 ปีตอนเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ และได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งไทรอยด์ระหว่างปี 2555-2561 ในจำนวนนี้ 2 คน ต้องตัดต่อมไทรอยด์ออกข้างหนึ่ง ขณะที่อีก 4 คน ต้องตัดต่อมไทรอยด์ออก 2 ข้าง และจำเป็นต้องกินยาฮอร์โมนตลอดชีวิตที่เหลือ

 

ทั้งนี้ การหลอมละลายที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงที่สุด ตั้งแต่ภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2529 ซึ่งต่อมาตรวจพบมะเร็งไทรอยด์ในคนจำนวนมาก

 

ภัยพิบัตินิวเคลียร์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิเมื่อปี 2554 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น คร่าชีวิตหรือมีผู้สูญหายราว 18,500 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากสึนามิ ขณะที่ผู้อยู่อาศัยหลายหมื่นคนรอบโรงงานฟูกูชิมะได้รับคำสั่งอพยพออกจากบ้าน หรือตัดสินใจอพยพเอง

ส่วนคนงานหลายคนที่ถูกส่งไปที่โรงไฟฟ้าเป็นมะเร็งหลังได้รับรังสี และได้รับค่าชดเชยจากรัฐบาลเนื่องจากกรณีดังกล่าวถือเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน

 

ตั้งแต่ภัยพิบัติครั้งนั้น จังหวัดฟูกูชิมะดำเนินการตรวจคัดกรองต่อมไทรอยด์สำหรับผู้ป่วยราว 380,000 คนที่อายุไม่เกิน 18 ปีหรือต่ำกว่าในช่วงเกิดภัยพิบัติ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระบุว่า จนถึงเดือนมิ.ย. 2564 มีการตรวจพบผู้ป่วยหรือสงสัยว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ในเด็ก 266 คน

ด้านนายทากาฮิโร ยามาโตะ โฆษก TEPCO ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า เมื่อมีการร้องเรียนทางกฎหมายมาถึง เราจะดำเนินการอย่างจริงใจหลังให้ความสนใจในรายละเอียดของข้อเรียกร้องและค่าชดเชย

"เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งอีกครั้งที่สร้างปัญหาและความกังวลต่อผู้คนในสังคมวงกว้าง รวมถึงผู้อยู่อาศัยในจังหวัดฟูกูชิมะ เนื่องจากอุบัติเหตุดังกล่าว" โฆษก TEPCO กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง