รีเซต

โควิด-19: การกลับไปทำงานหลังปลดมาตรการล็อกดาวน์จะเปลี่ยนไปอย่างไร

โควิด-19: การกลับไปทำงานหลังปลดมาตรการล็อกดาวน์จะเปลี่ยนไปอย่างไร
บีบีซี ไทย
8 พฤษภาคม 2563 ( 08:01 )
162
โควิด-19: การกลับไปทำงานหลังปลดมาตรการล็อกดาวน์จะเปลี่ยนไปอย่างไร

Getty Images

 

หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเริ่มวางแผนให้ผู้คนกลับไปทำงานตามปกติ หลายคนกังวลว่าที่ทำงานจะปลอดภัยแค่ไหนท่ามกลางภาวะโรคระบาดใหญ่ที่ยังไม่ปิดฉากลง

 

มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อช่วยคัดกรองพนักงาน ตั้งแต่กล้องจับความร้อนเพื่อใช้วัดอุณหภูมิพนักงานก่อนเข้าอาคาร หรือแอปพลิเคชันที่ช่วยเตือนเมื่อเข้าใกล้เพื่อนร่วมงานมากเกินไป สถานทีทำงานอาจดูคล้ายฉากในภาพยนตร์แนวไซไฟเข้าไปทุกที

 

อาคาร ดิ เอ็ดจ์ ในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอาคารที่อัจฉริยะและยั่งยืนต่อสภาพแวดล้อมที่สุดในโลก กำลังปรับระบบเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งทั่วตึกให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสที่คร่าชีวิตผู้คน

 

คุน ฟาน โอสโตรม ผู้ก่อตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างอาคารนี้บอกกับบีบีซีว่า บางเรื่องก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดเลย

 

คุณภาพอากาศ

"ปัจจุบันประตูยังต้องเปิดด้วยมือ แต่มันก็ไม่ยากที่จะเปลี่ยนเป็นการเปิดโดยสั่งผ่านเสียงหรือแอปพลิเคชัน เราต้องการให้มั่นใจว่าเชื้อไวรัสผ่านเข้ามาไม่ได้ และเราก็มีกล้องที่ดูได้ว่าแต่ละชั้นมีคนอยู่มากน้อยแค่ไหน เมื่อเราอัพเดตซอฟต์แวร์ ก็สามารถวัดระยะห่างระหว่างผู้คนได้ และสามารถส่งข้อความเตือนเข้าโทรศัพท์มือถือไปเตือนพวกเขาได้"

 

Getty Images

"ไม่ใช่ว่าทุกคนชอบวิธีนี้ และมันก็เป็นการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว เราจึงยังไม่ตัดสินใจว่าจะใช้เทคโนโลยีนี้หรือไม่" เขากล่าว

เขาบอกด้วยว่า อาคารดิ เอ็ดจ์ ได้จัดหาแอปพลิเคชันมือถือให้พนักงานเพื่อตรวจดูอุณหภูมิและคุณภาพอากาศในตัวอาคาร และสามารถใช้แอปฯ นี้สั่งอาหารจากโรงอาหารได้ด้วย ในความเป็นจริงพนักงานไม่ได้ใช้งานมันมากนัก เพราะในอดีตไม่มีใครใส่ใจเรื่องคุณภาพอากาศ แต่เมื่อเห็นว่าเชื้อไวรัสมีโอกาสแพร่กระจายได้สูงกว่าในสภาพอากาศที่แย่ ผู้คนก็อาจจะเริ่มตื่นตัวมากขึ้น

 

การจัดผังที่นั่งทำงานก็ต้องเปลี่ยนไปเพื่อให้คนได้รักษาระยะห่างทางสังคม แต่ซูซาน คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารอัจฉริยะของบริษัทวิจัยเวอร์ดานทิกซ์บอกว่า อาจเป็นไปได้ยากที่คนจะเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างจริงจัง

 

 

โต๊ะทำงานหมุนเวียนก็จะยังคงอยู่ และด้วยสภาพเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถขยายพื้นที่ทำงานได้ แต่ก็มีอีกแนวคิดก็คือ เมื่อพนักงานคนหนึ่งใช้โต๊ะทำงานนั้นเสร็จก็เช็กเอาท์เพื่อให้พนักงานทำความสะอาดเข้ามาทำความสะอาดฆ่าเชื้อบริเวณนั้น

 

บริษัทผู้ผลิตหลอดไฟอย่าง ไวทัล ไวโอ เสนอสินค้าหลอดไฟฉายแสงสีม่วงบวกกับแสงสีขาวเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนพื้นผิว ธุรกิจโรงแรมหรืออาคารสำนักงานที่มีคนหนาแน่นมากอาจติดตั้งหลอดไฟเหล่านี้ แต่บางบริษัทอาจสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว คลาร์กกล่าว

 

ตรวจวัดอุณหภูมิ

บริษัทเฟลอร์เทคโนโลยี ผลิตกล้องจับความร้อนสำหรับใช้ในสนามบินและบนเฮลิคอปเตอร์ตำรวจมานานหลายปี แต่เพิ่งมียอดขายพุ่งสูงช่วงไม่กี่เดือนก่อน และเริ่มมีความสนใจมากขึ้นจากโรงงานและธุรกิจต่าง ๆ

 

"พูดง่าย ๆ ว่าทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการปกป้องพนักงานและลูกค้าของตัวเองสนใจสินค้าของเรา" เอซรา เมอร์ริลล์ รองประธานฝ่ายการตลาดของบริษัทบอก

 

กล้องจะตรวจวัดบริเวณกว้าง 5 ตร.มม. ใกล้ท่อน้ำตา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่ดีที่สุดสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิผิวกาย คนที่ใส่แว่นก็เพียงถอดแว่นออก ระบบอัลกอริธึมจะคำนวณค่าจากหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิแต่ละช่วงเวลาของวัน และความจริงที่ว่าร่างกายคนมีช่วงอุณหภูมิปกติต่างกัน

 

อย่างไรก็ตาม นายเมอร์ริลล์บอกว่า อุปกรณ์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ขั้นต่อไปคือการตรวจวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบที่แพทย์ใช้

 

เมื่อไม่นานมานี้มีการทดลองใช้อุปกรณ์นี้ที่โรงงานแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ แต่ผลตอบรับจากพนักงานมีหลายแบบ "มีทั้งคนที่ตื่นเต้นและยินดีให้ตรวจ ไปจนถึงคนที่คิดว่ากำลังมาตรวจสายตา"

 

ในความเป็นจริงกล้องนี้ไม่ได้ทำการบันทึกภาพใด ๆ เลย และไม่สามารถระบุตัวตนจากภาพได้ แต่นายเมอร์ริลล์บอกว่า เป็นที่เข้าใจได้ว่าอาจมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและในบางพื้นที่อาจเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

 

"บางประเทศมีกฎห้ามสังเกตการณ์สุขภาพลูกจ้าง เช่น ในอิตาลีมีกฎหมายระบุว่าห้ามสังเกตการณ์ด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการตรวจวัดอุณหภูมิด้วย" คลาร์กกล่าวเสริม

 

Getty Images

ราวี นาอิก นักกฎหมาย บอกว่าธุรกิจทั้งหลายควรระมัดระวังและไม่ใช่เทคโนโลยีเพียงเพราะมันมีอยู่

"เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบว่าใครทำงานได้หรือไม่ได้ใช่หรือไม่ จริง ๆ แล้วมันมีประโยชน์อะไร มันกระทบสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้นมันต้องมีเหตุผลมากพอในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน และผมคิดว่ายังไม่มีเหตุที่จะนำมาใช้ในตอนนี้"

 

ทางออกระยะยาวที่ได้ผลแน่นอนอาจรวมถึงการไม่เข้าไปในที่ทำงานเลย

เจส สเตลีย์ ผู้บริหารธนาคารบาร์เคลย์บอกว่า สำนักงานขนาดใหญ่ในตัวเมืองที่มี่พนักงานเป็นพันคน "อาจกลายเป็นเรื่องตกยุค" เพราะยุคนี้ที่คนทำงานที่บ้านเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคนก็ทำงานได้ดีเท่ากัน

 

แต่เรื่องนี้นาย ฟาน โอสโตรม ไม่เห็นด้วย เขาคิดว่าเราจะได้เห็นรูปแบบการทำงานแบบผสมผสานที่คนส่วนมากทำงานที่บ้าน และนายจ้างต้องหลอกล่อให้ลูกจ้างเข้ามาที่ทำงาน

"การทำให้ที่ทำงานเป็นสถานที่น่าอยู่จะกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน" เขากล่าวทิ้งท้าย

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง