"เราไม่ทิ้งกัน" เพิ่มเมนู"ขอสละสิทธิ" รับเยียวยา 5พันบาท
เมื่อวันที่ 24 เมษายน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในวันที่ 25 เม.ย. เวลาประมาณ 09.00 น. เว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จะมีปุ่มเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปุ่ม คือ “ขอสละสิทธิมาตรการเยียวยา” ซึ่งจะเป็นแถบสีชมพู เพื่อให้ผู้ที่ลงทะเบียนทบทวนสิทธิ์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสขอสละสิทธิ์จากมาตรการเยียวยาดังกล่าว
ทั้งนี้ พบว่าที่ผ่านมามีผู้ที่ได้เงินเยียวยา และเกิดเสียชีวิต และทายาทมีการติดต่อเข้ามาเพื่อขอคืนเงินดังกล่าว ก็สามารถมาใช้ปุ่มขอสละสิทธิ์มาตรการเยียวยาได้ โดยเข้าไปกรอกรายละเอียด ซึ่งจะมีขั้นตอนการคืนเงินที่ได้รับไปแล้วด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนหนึ่ง ที่มาลงทะเบียนและได้รับเงิน 5 พันบาทไปแล้ว ซึ่งภายหลังการตรวจสอบพบว่าขาดคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว จึงต้องคืนเงินผ่านปุ่มขอสละสิทธิ์มาตรการเยียวยาเช่นเดียวกัน โดยเดิมกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่กระทรวงการคลังจะต้องทำการตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ทำการชี้แจงรายละเอียดกับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งแล้วว่าหากใครได้รับสิทธิ์ตามมาตรการให้มาทำการสละสิทธิ์
“กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ เนื่องจากตอนลงทะเบียนว่าประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย ซึ่งมีการประกอบอาชีพดังกล่าวจริง แต่ก็มีอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจอยู่ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ไม่ได้” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะทำการตรวจสอบกลุ่มที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้วอีกจำนวนหลายแสนคน ซึ่งคาดว่าน่าจะขาดคุณสมบัติการรับเงินเยียวยาเช่นกัน โดยกลุ่มดังกล่าวต้องคืนเงินให้กับกระทรวงการคลัง ผ่านปุ่มขอสละสิทธิ์มาตรการเยียวยาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ในปุ่มยกเลิกการลงทะเบียน ได้มีการเพิ่มฟังก์ชัน ให้สำหรับผู้ที่รอฟังผลการลงทะเบียน
หลังจากที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ให้มากดปุ่มดังกล่าวเพื่อยกเลิกการลงทะเบียนได้ เนื่องจากทีมพิทักษ์สิทธิ์ จำนวน 1.7 หมื่นคน ได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงสำหรับคนที่ขอยื่นทบทวนสิทธิ์ ซึ่งปรากฏว่ามีทั้งผู้ที่ให้ข้อมูลตรงกับความเป็นจริง และมีคนที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงไม่อยากให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว และต้องการยกเลิกสิทธิ์จากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ กระทรวงการคลังจึงต้องเพิ่มปุ่มดังกล่าวขึ้นมา