รีเซต

กก.โรคติดต่อฯ รับทราบร่าง พ.ร.ก.ควบคุมโรค จ่อชง ศบค.บูสต์โดส ต.ค.-ธ.ค.เดือนละ 1-2 ล้านเข็ม

กก.โรคติดต่อฯ รับทราบร่าง พ.ร.ก.ควบคุมโรค จ่อชง ศบค.บูสต์โดส ต.ค.-ธ.ค.เดือนละ 1-2 ล้านเข็ม
มติชน
23 กันยายน 2564 ( 13:33 )
38

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2564 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครือข่ายโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ (UHOSNET) โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมผ่านระบบออนไลน์

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น อัตราการติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง การรักษาพยาบาลรองรับได้ดีขึ้น การติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ และมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเรือนจำ แต่มีการแยกกักอย่างดี ทำให้ควบคุมโรคได้

 

 

“สำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ วันนี้ มีประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.รับทราบการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดเรียนในสถานศึกษา รวมถึงผู้ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 4.5 ล้านคน เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตปกติในโรงเรียนอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2564” นายอนุทิน กล่าวและว่า 2.รับทราบแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 โดยประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามแผน 125 ล้านโดส จะมีผู้ได้รับวัคซีน 62 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 90 โดยมีเป้าหมายฉีดเข็มที่ 1 ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และอย่างน้อยร้อยละ 80 ภายในเดือนธันวาคม 2564 ส่วนเข็มที่ 2 ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนธันวาคมเช่นกัน ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) 1 เข็ม โดยจัดสรรเดือนละ 1-2 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564

 

 

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า 3.รับทราบความคืบหน้าการเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. … ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแล้ว

“สาระสำคัญมีการกำหนดระบบและกลไกในการจัดการโรคติดต่อ ทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขึ้นมา เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเป็นเอกภาพ ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

 

 

นอกจากนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า 4.เห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เกณฑ์ แนวทาง และแผนงานสำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยจะมีการปรับลดระยะเวลาการกักกันผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีการพิจารณาข้อมูลระยะเวลาที่พบการติดเชื้อในผู้เดินทางแล้ว และให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถเดินหน้าประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม โดยมีแผนการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินเตรียมความพร้อม โดยการกำหนดพื้นที่ขึ้นอยู่กับความครอบคลุมของวัคซีน สถานการณ์ อัตราการครองเตียง และการบริหารจัดการของพื้นที่ จะเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป

 

 

“ทั้งนี้ ระยะแรกช่วงเดือนตุลาคม 2564 จะทดลองรับนักท่องเที่ยวไทยเข้าพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ก่อนเปิดพื้นที่ในเดือนพฤศจิกายน 2564” นายอนุทิน กล่าวและว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบในหลักการระบบและแนวทางปฏิบัติในการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้รองรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา และสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง