แรงงานเมียนมานับกว่า 100,000 คน จ่อเข้าไทยด้านอ.แม่สอด
ตากเตรียมรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมากว่า 100,000 คน แต่รับได้วันละ 300 คน ผลออกมาได้แค่ 30 คน
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 63 ที่ห้องประชุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก อ.แม่สอด จังหวัดตาก นายศุภภิมิตร เปารีก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เป็นประธานในการประชุมเรื่อง การบริหารจัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติคือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยมีชัยวัฒน์ วิฑิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ให้การต้อนรับ และมีนายแพทย์รเมศ ว่องวิไลรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก , จัดหางานจังหวัดตาก หน่วยงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โรงพยาบาลแม่สอด เทศบาลนครแม่สอด และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยฝ่ายจัดหางานจังหวัดตากแจ้งในที่ประชุมว่า แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ที่จะเข้ามาทางด่านพรมแดนไทย-เมียนมา (แม่สอด- เมียวดี) ทั้งหมดกว่า 1 แสนคน คือ ส่วนที่หนึ่งเป็นแรงงานเดิมตามเอ็มโอยู.มีใบอนุญาตทำงาน ที่กลับไปในช่วงสงกรานต์ และโควิด-19 จำนวน 69,000 คน และส่วนที่ 2 แรงงานใหม่ จำนวนกว่า 42,000 คน ขณะที่ภาคเอกชนเสนอ เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ต้องการให้ผู้ประกอบการ กับ ลูกจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการกักกันระยะเวลา 14 วัน
นายศุภภิมิตรกล่าวในที่ประชุมว่า ต้องทราบความชัดเจนก่อนว่า แรงงานที่เข้ามามีขั้นตอน มีความพร้อมอย่างไรตั้งแต่ฝั่งเมียนมาเข้ามาหน้าด่านพรมแดนไทย-เมียนมา เขตไทย เช่น คัดกรองตรวจโควิด-19 การกักกันจะต้องทำอย่างไรเมื่อผ่านสาธารณสุขแล้วทางจัดหางานจะต้องดำเนินการอย่างไร และที่สำคัญคือสถานที่กักกันจะทำอย่างไร หากมามากกว่าวันละ 300 คน แล้ว จะต้องทำอย่างไร ต้องมีความชัดเจนทุกขั้นต้น เมื่อเกินศักยภาคต้องแจ้งส่วนกลาง แต่ในเบื้องต้นจะนำร่องก่อน 30 คน
นายแพทรเมศ กล่าวว่า การคัดกรองนั้น เท่าที่ทางหน่วยงานสาธารณสุขสามารถคัดกรองโรค และรู้ผลได้ภายใน 1 วัน จะดำเนินการได้วันละ 30 – 50 คน ถ้ามากกว่านี้ต้องอาศัยจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถมีเครื่องตรวจ และทราบผลในวันเดียวได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค ส่วนสถานที่กักกันนั้น จะเป็นสถานประกอบการ โรงแรม ที่เกี่ยวข้องกับการกักกันของรัฐ ซึ่งทางเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย