ไขสาเหตุมหาอุทกภัยเชียงราย รุนแรงเพราะฝีมือธรรมชาติ หรือ น้ำมือมนุษย์
แม้จะเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูพื้นความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคเหนือของไทยปีนี้ได้กลายเป็นภาพจำของหนึ่งในสถานการณ์น้ำที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
แต่หากพูดถึงจุดที่สถานการณ์วิกฤตที่สุดคงหนีไม่พ้นสถานการณ์ที่ จ.เชียงราย ภาพน้ำป่าสีขุ่นพร้อมดินโคลนเข้าโจมตีบ้านเรือนด้วยความเร็ว แรง ผิดจากปกติไปมาก จนประชาชนตั้งตัวไม่ทัน ก่อความเสียหายเป็นวงกว้าง และ ไม่ใช่แค่รอบเดียว แต่เป็นการเข้าโจมตีถึง 2 ระลอกใหญ่
----- มวลน้ำที่เข้าท่วมเชียงรายมาจากไหน? ------
สำหรับน้ำที่เข้าโจมตีเชียงรายมาจาก 2 เส้นทาง ซึ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน เส้นทางแรก คือ น้ำท่วมแม่สาย ซึ่งมวลน้ำส่วนใหญ่ที่ไหลมาจากต้นน้ำในประเทศเมียนมา ซึ่งข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้า คือ ข้อสันนิษฐานจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำในประเทศเมียนมา ทำให้ลักษณะกายภาพที่จากเดิมเป็นป่าถูกปรับให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่ในหลายจุด ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง และ ฉับพลัน
ส่วนเส้นทางที่สอง คือ น้ำ"แม่น้ำกก" แม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งในภาคเหนือ มีต้นกำเนิดจาก ทิวเขาแดนลาวและทิวเขาผีปันน้ำตอนเหนือของเมืองกก จังหวัดเชียงตุง ในอาณาเขตของรัฐฉานของประเทศเมียนมา ซึ่งเส้นทางน้ำสายนี้เป็นเส้นทางที่เราจะมาวิเคราะห์ให้ชัดเจนขึ้น หลังศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.เกษตรศาสตร์ ได้เปิดข้อมูลในเชิงธรณีวิทยา เพื่อไขสาเหตุความรุนแรงของอุทกภัยจากแม่น้ำกก ที่เข้าโจมตีตัวเมืองเชียงรายก่อนจะไหลย้อนขึ้นบนผ่านอีกหลายอำเภอเพื่อระบายลงสู่แม่น้ำโขง
----- ไขสาเหตุทำไมน้ำท่วมเมืองเชียงรายถึงหนักหน่วง ---------
TNN Online พูดคุยกับ ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.เกษตรศาสตร์ซึ่งได้เก็บข้อมูล และ วิเคราะห์ในเชิงธรณีวิทยาเพื่อหาสาเหตุ พร้อมหยิบโมเดลการเกิดมหาอุทกภัยเชียงรายที่นำไปสู่ข้อเสนอและการออกแบบการป้องกันอุทกภัยที่ในอนาคตที่อาจจะรุนแรง และมีความถี่มากขึ้น จากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน
ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ชี้ว่าเหตการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา พื้นที่น้ำท่วมอยู่ในขอบเขตประมาณ 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตรออกจากลำน้ำปัจจุบัน เพราะเมื่อปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขามีปริมาณเเละความเร็วมาก น้ำจะไม่ไหลไปในลำน้ำอีกต่อไป เเต่จะลัดตรงเเละล้นตลิ่ง ทำให้พื้นที่บริเวณที่ลำน้ำคดโค้งจะเป็นพื้นที่ที่จะท่วมอันดับเเรก จากนั้นน้ำจะเเผ่ออกด้านข้างไปในพื้นที่ที่มีระดับต่ำ ซึ่งก็คือพื้นที่ที่เคยเป็นเส้นทางการไหลกวัดเเกว่งของลำน้ำนั่นเอง
----- มหาอุทกภัยเชียงราย เพราะธรรมชาติ หรือ ฝีมือมนุษย์ ---------
นอกจากความแรงของน้ำป่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานรากฯ ยังพบว่าลักษณะภูมิประเทศในบริเวณที่น้ำกกไหลผ่านยังเอื้อต่อการเอ่อล้นเเละไหลเเรงของน้ำท่วม เช่น พื้นที่บ้านธนารักษณ์ ที่เป็นกลุ่มเขาหินปูน ลำน้ำไหลลัดเลาะไปตามช่องเขา ที่มีเเนวภูเขาเป็นกรอบกั้นเเคบๆ
ส่งผลให้เมื่อมีปริมาณน้ำมากเเละล้นตลิ่ง น้ำในช่องทางดังกล่าวจะไหลเร็วเเละเเรงเเละยกระดับขึ้นสูง เพราะช่องทางการไหลเเคบ น้ำจึงไม่สามารถเเผ่ออกไปได้ไกลเหมือนบริเวณใกล้ตัวเมือง ส่งผลให้เกิดความเสียหายรุนเเรง
ไม่เพียงแต่ผลกระทบที่เกิดจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ฝีมือมนุษย์ก็อาจเป็นปัจจัยเสริมให้ภัยพิบัติรุนแรงขึ้น เพราะจากการตรวจสอบพบว่า ธรรมชาติของลำน้ำนั้น การลัด การหลง การกัดเซาะเเละทำลายตลิ่ง รวมถึงการล้นตลิ่งเเละท่วมหลากเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมถึง จึงเป็นเรื่องปกติในช่วงเวลาทางธรณีวิทยา เเต่ส่วนที่ไม่ปกติ คือ ในบริเวณพื้นที่ที่น้ำท่วมเเละมีการกัดเซาะตามธรรมชาติมานาน ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเข้าไป โดยไม่ทราบถึงลักษณะเฉพาะทางธรรมชาติ สุดท้ายจึงกลายเป็นอุทกภัยของมนุษย์ที่สร้างความบอบช้ำให้อย่างประเมินค่าได้
ขณะที่การไปทำลายป่าปลูกพืชบนภูเขา ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ยอมรับว่าย่อมจะมีส่วนไม่มากก็น้อย เพราะอย่างที่ทราบกันในวงกว้างว่าต้นไม้ในป่ามีหน้าที่ช่วยอุ้มน้ำ และ ชะลอความแรงของน้ำป่า แต่ก็จำเป็นต้องวิเคราะห์คำนวณกันตามหลักฐานเเละข้อมูลต่อไป ว่าเป็นปัจจัยทำให้ความรุนเเรงนั้นมากขึ้นกว่าสภาพธรรมชาติมากน้อยอย่างไร
----- น้ำป่า ดินถล่ม ป้องกันได้ด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม ------
สำหรับมวลน้ำที่เข้าท่วมเชียงรายมีลักษณะความรุนแรง 2 ชั้น ชั้นแรกคือความแรง และ ระดับน้ำที่เข้าท่วม นั่นคือภัยพิบัติฉับพลันที่ส่งผลต่อชีวิต และ ทรัพย์สิน ส่วนชั้นที่ 2 คือ โคลน และ ตะกอนดินที่มากับน้ำ ซึ่งเมื่อน้ำลดกับพบว่าดินโคลนยังคงทำให้บ้านเรือนมีสภาพไม่ต่างกับจมอยู่ในดิน ซึ่งนอกจากต้องใช้ความพยายามในการขุดออกแล้ว ยังจำเป็นต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้ดินเกิดการเซ็ตตัวจนแห้ง ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูทำได้ยากขึ้นหลายเท่า โดยการป้องกันเหตุดังกล่าวสามารถใช้หลักวิศวกรรมศาสตร์เข้ามาแก้ไข และ ป้องกัน เพื่อลดความสูญเสีย
โดยหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก เสนอว่าควรมีการทำฝาย หรือ เขื่อนขนาดเล็กที่สามารถดักตะกอน แต่น้ำยังสามารถไหลผ่านไปได้ และยังสามารถชะลอความเร็วของน้ำได้อีกด้วย ซึ่งมีการใช้แนวป้องกันลักษณะดังกล่าวในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า Sabo dam หรือ บางชาติอาจเรียกว่า หรือ Check dam ถ้าอาจทำเป็นลักษณะหลายจุดขึ้นไปตามต้นน้ำ พร้อมกับติดเซ็นเซอร์ เพื่อเป็นการวัดระดับน้ำ พร้อมแจ้งเตือนไปยังประชาชนที่อยู่ด้านล่าง เพื่อให้อพยพ หรือ เตรียมรับมือได้ดีขึ้น
“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรที่จะมีโครงสร้างทางวิศวกรรม เพื่อลดทอนปัญหานน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม แต่ต้องมาร่วมกันออกแบบ และ ร่างข้อกำหนดให้ชัดเจน ว่าสร้างได้ในกรณีไหน เช่น ในจุดที่มีความจำเป็น เคยเกิดขึ้นแล้วก็ควรที่จะสร้าง หรือ การสร้างเพื่อป้องกันในพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ควรจะมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง แต่ในปัจจุบันเราห้ามอย่างเด็ดขาดเลย ก็เลยทำให้ยังเกิดภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอยู่ ” ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ทิ้งท้าย
Exclusive Content By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNN Online