รีเซต

ป่วยโควิดอาการหนัก 28 ราย แนวโน้มตายสูง สธ.ขอความร่วมมือเวิร์กฟรอมโฮม

ป่วยโควิดอาการหนัก 28 ราย แนวโน้มตายสูง สธ.ขอความร่วมมือเวิร์กฟรอมโฮม
มติชน
18 เมษายน 2564 ( 16:30 )
1.2K
ป่วยโควิดอาการหนัก 28 ราย แนวโน้มตายสูง สธ.ขอความร่วมมือเวิร์กฟรอมโฮม

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,767 ราย ทั้งนี้พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนัก 128 ราย ในจำนวนนี้มี 28 ราย ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งอาการรุนแรงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กรมการแพทย์อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการติดเชื้อรอบใหม่จากสายพันธุ์อังกฤษว่าทำให้ปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลการระบาดที่เริ่มต้นจากสถานบันเทิง แล้วไปแพร่ต่อให้คนในครอบครัว และแพร่ต่อสู่ที่ทำงานและกระจายตัวประเทศ

 

“โดยข้อมูลวันที่ 4-8 เมษายน ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อจาก 1 คน ไปสู่คนอื่นๆ หรือ อาร์ศูนย์ (R0) อยู่ที่ 2 กว่าๆ แต่หลังมีมาตรการปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ พบว่าอัตราการแพร่ระบาดอยู่ที่ 1.6 ดังนั้นแนวโน้มการระบาดขณะนี้อยู่ในช่วงชะลอ แต่ตัวเลขที่เพิ่มขณะนี้เป็นแรงเฉื่อยของการติดเชื้อก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นแนวโน้มเราเริ่มคุมสถานการณ์ได้ ทั้งนี้การระบาดส่วนใหญ่อยู่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ชลบุรี ชลบุรี ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีการติดเชื้ออยู่ในวงจำกัดเล็กๆ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เราต้องการขอความร่วมมือจากประชาชนอีกหลายประการ ถ้าร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทางระบาดวิทยาคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ ตัวเลขจะค่อยๆ ลดลง แต่ช่วงนี้อาจจะมีตัวเลขสูงนิดหน่อย

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่น่าห่วงคือ ขณะนี้มีแนวโน้มระบาดไปยังโรงเรียน องค์กร สถานประกอบการ ดังนั้นสิ่งที่จะร่วมมือกันช่วยลดการแพร่ระบาดในประเทศไทยคือมาตรการส่วนบุคคล ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงการออกไปในพื้นที่ชุมชนโดยไม่จำ ประชาชนป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้น

 

“และตอนนี้เวิร์กฟรอมโฮมเป็นมาตรการสำคัญมาก เพราะหลังสงกรานต์ เชื่อว่าวันจันทร์คนจะกลับเข้าสถานที่ทำงานจำนวนมาก ดังนั้นขอให้มีมาตรการ เวิร์กฟรอมโฮม และคัดกรอง ซึ่งจุดเสี่ยงคือการไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะการกินข้าว ดังนั้น หากเป็นไปได้ขอให้งดกิจกรรมรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ห้ามมีเด็ดขาด สวมหน้ากากอนามัยอย่างเข้มข้น แยกภาชนะกัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน” นพ.โอภาส กล่าว

 

สำหรับการฉีดวัคซีนในประเทศไทย นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้กระจายลงไป 1 แสนโดส ใน 77จังหวัด ฉีดไปแล้ว 608,521 โดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 526,706 ราย และวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 81,815 ราย ส่วนอีก 1 ล้านโดส ของซิโนแวคนั้น มีการตรวจรับและกระจายลงไปยังจังหวัดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แบ่งการฉีด ดังนี้ 1. จำนวน 599,800 โดส ฉีดให้บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศให้ครบ 100% ภายใน 1 เดือน 2.จำนวน 1 แสนโดส ฉีดควบคุมโรคในพื้นที่สีแดง 3.จำนวน 147,200 โดส ฉีดให้ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 4.จำนวน 54,320 โดส ฉีดให้กับคนที่มีโอกาสพบเจอคนจำนวนมาก เช่น ทหาร ตำรวจ บุคลากรด่านหน้า รวมถึง ส.ส. ต่างก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ และ 5.จำนวน 98,680 โดส สำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน

 

“ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์มีอยู่ 5 แสนเม็ด เพียงพอต่อการใช้ช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สั่งซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด คาดว่าจะมีการทำสัญญากันเรียบร้อยแล้ว และให้มีการเจรจาซื้อเพิ่ม 1 ล้านเม็ด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง