กองทัพสหรัฐฯ ทุ่มงบ 1,200 ล้านบาท ให้ Lockheed Martin เพื่อพัฒนายานอวกาศนิวเคลียร์
ห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศสหรัฐฯ (U.S. Air Force Research Laboratory หรือ AFRL) มอบเงินจำนวน 33.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,218 ล้านบาท ให้กับบริษัทด้านการบินและอวกาศอย่างล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์และเทคโนโลยีการขับเคลื่อนเพื่อใช้ในยานอวกาศ ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทคโนโลยีฉุกเฉินร่วมจัดหานิวเคลียร์บนวงโคจร (Joint Emergent Technology Supplying On-Orbit Nuclear หรือ เจ็ทสัน (JETSON))
เจ็ทสัน มีเป้าหมายคือเปิดการทำงานเครื่องปฏิกรณ์ฟิชชัน (Fission reactor เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ชนิดหนึ่งที่ปล่อยพลังงานออกมาจากการแยกของนิวเคลียสของอะตอม) ซึ่งมันจะทำงานหลังจากขึ้นไปบนอวกาศแล้ว เครื่องปฏิกรณ์นี้จะสร้างพลังงานความร้อน ซึ่งความร้อนจะถูกถ่ายโอนไปยังเครื่องแปลงพลังงานสเตอร์ลิง (อุปกรณ์เปลี่ยนพลังงานความร้อนไปเป็นพลังงานกล) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งพลังงานไฟฟ้านี้ก็จะใช้บนระบบและเครื่องมือต่าง ๆ ในยานอวกาศ รวมไปถึงใช้เพื่อขับเคลื่อนตัวยานอวกาศด้วย
เจ็ทสันถือเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องปฏิกรณ์กิโลพาวเวอร์โดยใช้เทคโนโลยีสเตอร์ลิง (Kilopower Reactor Using Stirling Technology หรือครัสตี้ (KRUSTY)) ที่องค์การนาซา (NASA) สาธิตไปเมื่อปี 2018
แบร์รี ไมล์ส (Barry Miles) ผู้จัดการโครงการเจ็ทสันกล่าวในแถลงการณ์ว่า “การพัฒนานิวเคลียร์ฟิชชันเพื่อการใช้งานในอวกาศ ถือเป็นกุญแจสำคัญ เพราะมันจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเคลื่อนที่และการสำรวจของเราในอวกาศอันกว้างใหญ่”
ล็อกฮีดจะทำงานร่วมกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์และการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ 2 บริษัทคือ สเปซ นิวเคลียร์ พาวเวอร์ (Space Nuclear Power) และบีดับเบิลยูเอ็กซ์ เทคโนโลยีส์ (BWX Technologies) ซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนทบทวนการออกแบบเบื้องต้นอยู่
ทั้งนี้ภายใต้โครงการเจ็ทสันนี้ ยังมีอีก 2 บริษัทที่ได้รับเงินทุนเช่นกัน คือสตาร์ทอัพชื่อ อินทิวทีฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) ได้รับเงิน 9.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 340 ล้านบาท เพื่อออกแบบแนวคิดยานอวกาศโดยใช้ระบบพลังงานไอโซโทปรังสี อีกบริษัทคือเวสติ้งเฮาส์ โกเวอร์เมนท์ เซอวิส (Westinghouse Government Services) ได้รับเงินทุน 17 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 690 ล้านบาทเพื่อวิจัยเกี่ยวกับระบบนิวเคลียร์ฟิชชันกำลังสูงบนยานอวกาศ
ที่มารูปภาพ NASA