Sustainability Expo 2024 งานแสดงวิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือสู่อนาคตที่ยั่งยืน
"ศุภชัย เจียรวนนท์" แนะรัฐผลักดันพลังงานสะอาด หวังดึงนักลงทุน-หนุนไทยสู่ Net Zero
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ร่วมเสนอวิสัยทัศนบนเวที “TSCN CEO PANEL: "วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือสู่อนาคตที่ยั่งยืน" ในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ร่วมกับผู้บริหารองค์กรชั้นนำของประเทศ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยมีนายสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อนำเสนอโมเดลการสร้างธุรกิจคู่ความยั่งยืน พร้อมเสนอแนะแนวทางการสร้างความร่วมมือเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนายั่งยืนร่วมกัน ทั้งนี้ภายในงานมีผู้บริหารองค์กรชั้นนำ นักธุรกิจ เครือข่ายองค์กรด้านความยั่งยืนระดับประเทศ และระดับโลก ผู้ประกอบการหลายสาขาให้ความสนใจเข้าร่วมฟังกว่า 1,000 คน ณ SX Grand Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในระดับโลก โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ซึ่งจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 ขณะที่ปี 2022 ทำได้แค่ 12% และปัจจุบันอยู่ที่ 17% ซึ่งช้ากว่ากำหนดและเหลือเวลาแค่ 6 ปีเท่านั้น ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ สำหรับการผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนให้สำเร็จ
โดยเครือซีพี ในฐานะเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในหลายประเทศได้ประกาศ และเร่งเดินหน้าเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 2030 รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมาย 17 SDGs โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปีดังกล่าวรวม 3 เป้าหมายหลัก (Big Goals) คือ 1. นำองค์กรสู่ Carbon Neutral (Scope 1และ2) ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 2. ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero Waste) และ 3. สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
นายศุภชัย ยังเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานนำเครือซีพีสู่เป้าหมาย Net Zero ว่า แม้ปัจจุบันธุรกิจเครือซีพีจะขยายกิจการเติบโตไป 21 ประเทศทั่วโลก แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมาเครือฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ 2 ลง 0.6 ล้านตันเทียบกับค่าสูงสุดในปี 2021 โดยเครือฯ ได้ปรับโมเดลธุรกิจเพื่่อนำองค์กรสู่ Net Zero ทั้งการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้มากขึ้น 17% การนำพลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอแมสและไบโอแก๊สมาใช้ รวมไปถึงการส่งเสริมให้พนักงานและคู่ค้าร่วมปลูกป่าลดคาร์บอนควบคู่ด้วย ส่วนการลดก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 เป็นเรื่องที่ใหญ่และท้าทายอย่างมาก เครือฯ จึงได้ตั้งเป้าหมายร่วมกับคู่ค้า ต้องลดคาร์บอนให้ได้ 25% ภายในปี 2030 ตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกัน
ซีอีโอเครือซีพี ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Net Zero โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม โดยเฉพาะภาครัฐต้องมีการออกนโยบาย และกฎระเบียบข้อบังคับมาส่งเสริมการลดคาร์บอน ผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดดึงนักลงทุน รวมไปถึงการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ นำมาเป็นพลังงานทางเลือกที่หลายประเทศนำไปปรับใช้ลดคาร์บอน ทั้งนี้ยังเป็นเรื่องที่จะต้องมาทำการศึกษาถึงภาพรวมและผลกระทบด้วย ในขณะเดียวต้องมีการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจในการลดคาร์บอน เพราะในตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วหรือ Extreme Weather โดยผลการศึกษาจากหลายที่คาดการณ์ว่าหากยังเกิดความผันผวนดังกล่าวมากยิ่งขึ้นจะทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งเกิน 2 องศาเซลเซียสได้ และจะยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย จากที่ไปลงพื้นที่ พบว่าผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมและดินสไลด์ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ ดังนั้นจึงควรต้องสร้างความร่วมมือเพื่อวางแนวทางเชิงป้องกัน
"การจะไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งไว้เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายอย่างมาก ต้องเร่งสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการลดคาร์บอนใน Scope 3 ภาคเอกชนไม่สามารถทำเองได้ แต่ต้องสร้างความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อนำประเทศไทยสู่ Net Zero สร้างความยั่งยืนในทุกมิติร่วมกัน" นายศุภชัย กล่าวปิดท้าย
นอกจากนี้ ภายในงานนายศุภชัย ได้ร่วมเป็นสักขีพยานประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนคู่ค้าภายใต้ TSCN Business Partner Code of Conduct โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทในเครือซีพี ในฐานะ Co -Founder เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) ขึ้นร่วมประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ด้วย พร้อมทั้งได้ร่วมโชว์วิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" โดยนำนวัตกรรมผลิตอาหารที่ยั่งยืนภายใต้ในแนวคิด Sustainovation มาร่วมจัดแสดง ถือเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมผลิตอาหารที่ยั่งยืน ดีต่อกายและดีต่อใจ ก้าวสู่เป้าหมายเกษตรเทคโนโลยี (Agri Tech) โดยบูธได้จัดแสดงในงาน Sustainability Expo 2024 โซน Better Me ชั้น G ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 6 ตุลาคม 2567