รีเซต

ผู้อพยพเกาะลัมเปดูซ่า ปัญหาใหญ่ยุโรป

ผู้อพยพเกาะลัมเปดูซ่า ปัญหาใหญ่ยุโรป
TNN ช่อง16
20 กันยายน 2566 ( 21:42 )
105

    ลัมเปดูซา  เกาะขนาดเล็กของอิตาลีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ได้กลายเป็นสถานที่ที่ผู้อพยพลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายเดินทางไปถึงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้เรือเล็กและเรือทั่วไป แล่นจากฝั่งแอฟริกา เพื่อเข้าสู่ยุโรป  ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างผู้อพยพกับชาวบ้านท้องถิ่น



    ลัมเปดูซา แม้เป็นเกาะของอิตาลี แต่ตั้งอยู่ระหว่างชายฝั่งมอลตาแห่งยุโรป และตูนิเซีย ตอนเหนือแอฟริกา  แต่เมื่อต้นเดือนกันยายน  ผู้อพยพราว 7,000 คน เดินทางไปขึ้นฝั่งที่เกาะดังกล่าว กลายเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากกว่าชาวบ้านท้องถิ่นบนเกาะลัมเปดูซา ที่มีประชากรราว 6,000 คน   เกาะลัมเปดูซา เป็นเกาะขนาดเล็ก มีพื้นที่ 7.8 ตารางไมล์  หรือราว 1 ใน 3 ของเกาะแมนฮัตตันในนิวยอร์กของสหรัฐฯ



    ขณะที่  ศูนย์รับผู้อพยพบนเกาะลัมเปดูซา สามารถรองรับผู้อพยพได้แค่ 400 คน ส่งผลให้ทางการท้องถิ่นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน   รัฐบาลอิตาลีต้องรีบเคลื่อนย้ายผู้อพยพไปยังประเทศในยุโรปอย่างรวดเร็ว โดยผู้อพยพกว่า 1,700 คนไปเยอรมนี  แต่อีกราว 3,800 คนยังคงอยู่บนเกาะ และอีก 500 คนเดินทางไปถึงเกาะลัมเปดูซาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา       



    การเดินทางไปถึงเกาะลัมเปดูซาของผู้อพยพ ส่วนใหญ่มาจากแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา และเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากชายฝั่งตูนิเซีย และลิเบีย   ซึ่งอยู่ห่างเพียง130-160 กิโลเมตรเท่านั้น โดยร้อยละ 90  ลักลอบเข้ายุโรปด้วยการจ่ายเงินให้แก่ขบวนการค้ามนุษย์และแก๊งอาชญากรรม    ซึ่งราคาค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ายุโรปขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการเดินทางและอายุ   แต่โดยทั่วไปแก๊งอาชญากรรม จะตั้งราคาเอาไว้ระหว่าง 3,000 ถึง 10,000 ยูโร   หรือราว  116,040 บาท ถึง  386,800 บาท



    ชาวบ้านบนเกาะออกมาประท้วงทันที หลังพบว่า ผู้อพยพจากแอฟริกาเข้ามาอยู่บนเกาะเป็นจำนวนมาก  ทำให้นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี และอัวร์ซูลา  ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป  ต้องลงพื้นที่บนเกาะลัมเปดูซาทันที   ผู้ประท้วงรายหนึ่งบอกว่า  ชาวเกาะไม่ต้องการให้ตั้งแคมป์ผู้อพยพบนเกาะลัมเปดูซา  ซึ่งนี้คือข้อความที่ส่งถึงยุโรป และรัฐบาลอิตาลี   เพราะชาวเกาะลัมเปดูซาเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย



    ด้าน นายกรัฐมนตรีอิตาลี ต้องการให้สหภาพยุโรปหรืออียู ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน  หากใครบางคนในยุโรป คิดว่า วิกฤตนี้สามารถจัดการได้  ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ และไม่ว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไร เกาะลัมเปดูซาก็ยังถูกจดจำว่า เป็นสถานที่สุดท้ายสำหรับการอยู่อาศัยบนเกาะ หลังจากนายกเทศมนตรีเกาะลัมเปดูซาบอกว่า เรามาถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับได้แล้ว และเกาะลัมเปดูซา ตกอยู่ในภาวะวิกฤต



ขณะที่กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน  เปิดเผยว่า   ผู้รอดชีวิตกว่า 400 คน รวมถึงเยาวชนที่มาคนเดียว จำนวน 173 คน  และหญิงตั้งครรภ์ 7 คน  ได้ขึ้นฝั่งที่เมืองบรินดิซิของอิตาลี ตามที่ทางการกำหนดเอาไว้    ทั้งนี้  การเดินทางข้ามจากแอฟริกาเหนือในตอนกลางของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กลายเป็นเส้นทางของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่  แต่ทางการอิตาลีระบุว่า  ผู้อพยพเดินทางเข้ามาเป็นรอบใหม่นี้มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ เพียง1สัปดาห์มีผู้อพยพถึง 14,000 คน



UNHCR รายงานสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้คนกว่า 100 ล้านคนที่ลี้ภัย พลัดถิ่นจากสงคราม ความขัดแย้ง และการประหัตประหาร ซึ่งถือเป็นกว่าร้อยละ 1 ของประชากรโลก


ที่มา : thenationalpulse.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง