รีเซต

เชียงใหม่ลุยฉีดวัคซีนโควิดล็อตแรกแล้ว หน.ผู้ตรวจฯประเดิมก่อนใคร

เชียงใหม่ลุยฉีดวัคซีนโควิดล็อตแรกแล้ว หน.ผู้ตรวจฯประเดิมก่อนใคร
มติชน
1 มีนาคม 2564 ( 18:28 )
80
เชียงใหม่ลุยฉีดวัคซีนโควิดล็อตแรกแล้ว หน.ผู้ตรวจฯประเดิมก่อนใคร

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 7 อาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นาแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (เขตสุขภาพที่ 1)แพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมแถลงข่าวการกระจายวัคซีนโควิด-19 และความพร้อมของสถานพยาบาลในการฉีดวัคซีนให้กับชาวจังหวัดชียงใหม่

 

นายเจริญฤทธิ์ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่โชคดีที่เป็น 1 ใน 13 จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกลุ่มแรก เพราะถือเป็นจังหวัดที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพื่อสร้างความมั่นใจและความมั่นคงต่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตามผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีอายุเฉลี่ย 60 ปี จึงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

 

นพ.จตุชัย กล่าวว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย สำหรับวัคซีน CoronaVac ของบริษัทซิโนแวค ล็อตแรกได้รับแล้ว 2 แสนโด๊ส ขณะนี้ผ่านการตรวจรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นลำดับแรก และฉีดให้กับประชาชนในช่วงอายุ 18-59 ปี เขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อเพื่อการควบคุมการระบาด จากนั้นจึงเป็นการฉีดเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เฉพาะกลุ่มในบางพื้นที่ โดยคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ได้กำหนดพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จำนวน 13 จังหวัด การขนส่งมีองค์การเภสัชกรรมร่วมกับบริษัท DKSH ดำเนินการด้วยระบบลูกโซ่ความเย็น ควบคุมอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของซิโนแวค 3,500 โดส ขณะนี้เก็บไว้ที่คลังยาในตู้แช่ยาที่ความเย็น 2-8 องศา และเตรียมสถานที่ที่โรงพยาบาลนครพิงค์เป็นสถานที่ฉีด โดยได้เตรียมสถานที่ และจัดระบบไว้ 8 ขั้นตอน ใช้เวลา 5 – 7 นาที โดยต้องมีการตรวจคัดกรอง วัดไข้ ล้างมือ ก่อนเข้าสู่กระบวนการ ดังนี้ 1)ลงทะเบียน (ทำบัตร) 2)ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต 3)คัดกรอง/ซักประวัติ, ประเมินความเสี่ยง, ลงนามในใบยินยอมการรับวัคซีน 4)รอฉีดวัคซีน 5)ฉีดวัดซีน 6)พักสังเกตอาการ 30 นาที และสแกน Line official account ‘หมอพร้อม’ 7)จุดตรวจสอบก่อนกลับ พร้อมรับเอกสารการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน 8)Dash Board ประเมินผล ความครอบคลุมการฉีดวัคซีน และอาการไม่พึงประสงค์ พร้อมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะได้ช่วยเหลือได้ทันที

 

“คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่กำหนดเกณฑ์การกระจายวัคซีน เนื่องจากวัคซีนทยอยมาเป็นล็อตๆ จึงไม่สามารถฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงทั้งหมดคราวเดียวได้ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง คือ อำเภอเมืองและอำเภอปริมณฑล 50% , อำเภอชายแดน 5 อำเภอ 20% , อำเภอที่เหลือ 14 อำเภอ 30% และผู้ป่วยเรื้อรัง การกระจายวัคซีนใช้ตามเกณฑ์พื้นที่เสี่ยง ส่วนกลุ่มโรคและความเสี่ยงแต่ละกลุ่มให้ยึดตามเกณฑ์ที่คณะทำงานวิชาการกำหนด และทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่วางแผนการบริหารจัดการวัคซีนจังหวัดเชียงใหม่ โดยรอบแรก คือ เดือนมีนาคม จะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย อายุ 18-59 ปี จำนวน 1,750 คน ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลหรือต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งรัฐและเอกชน จำนวน 1,450 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆของหน่วยงานที่มีโอกาสเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ จำนวน 300 คน , รอบเดือนเมษายน จำนวน 32,000 โด๊ส จำนวน 16,000 คน และรอบเดือนพฤษภาคม จำนวน 48,000 โด๊ส จำนวน 24,000 คน โดยจะฉีดให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่ (ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง) ผู้ป่วยเรื้อรัง ประชาชนและแรงงาน (เกี่ยวกับการท่องเที่ยว)”

 

นพ.จตุชัย กล่าวว่า ระยะแรกโรงพยาบาลจะติดต่อกลุ่มเป้าหมายให้รับวัคซีนตามความสมัครใจก่อน จากนั้นจะประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเสี่ยงลงทะเบียนเลือกวัน เวลา สถานที่ฉีดผ่านไลน์หมอพร้อมต่อไป สำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์โฟน สามารถลงทะเบียนได้ที่ สสอ. และรพ.สต. หรือสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ทุกแห่ง แต่หากตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีน แต่ไม่มีรายชื่อให้ติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาและขอลงทะเบียนเพิ่มเติม สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าในไลน์หมอพร้อมได้ แต่จะยังไม่มีรายชื่อเป็นผู้ได้รับวัคซีน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร 053-211048-50

 

โดยเวลา 09.15 น. เจ้าหน้าที่เริ่มดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่ง นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (เขตสุขภาพที่ 1) เป็นบุคลากรทางการแพทย์คนแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นคนแรก โดยแสดงความมั่นฝจด้วยการชูสองนิ้ว ตามด้วยนายวีรพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ หัวหน้าส่วนราชการทหาร ตำรวจ ปกครอง และบุคลากรทางด้านการท่องเที่ยว โดยในวันแรกนี้มีการฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ จำนวน 1,750 คน แยกเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และพนักงานสาธารณสุข จำนวน 1,450 คน และอีก 300 คน คือ เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำทางการท่องเที่ยว หัวหน้าทีม อสม.

 

ซึ่ง นพ.ธงชัย กล่าวว่า ไม่ทันรู้สึกตัว และไม่เจ็บเลย เพราะเจ้าหน้าที่ใช้เข็มเบอร์ 26 ซึ่งมีขนาดเล็ก และไม่ใช่วัซีนที่มาพร้อมเข็มจึงไม่ใหญ่มาก ซึ่งการฉีดวัคซีนจะทยอยไปเรื่อยๆ เรียกว่าทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทย รวมทั้งบุคคลต่างด้าวด้วย แต่อยู่ระหว่างที่ประกันสังคมดำเนินการหาข้อสรุปเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ที่อาจจะมีนายจ้างและลูกจ้างร่วมกันรับผิดชอบ และวัคซีนที่นำเข้ามาฉีดเหมือนวัคซีนทั่วไป แม้จะเป็นวัคซีนในภาวะฉุกเฉินแต่ก็มีการติดตามและพบว่ามีปัญหาน้อยมาก มีการฉีดไปแล้วหลัก 100 ล้านคนทั่วโลก ประชาชนไม่ต้องกลัว เพราะ อย.รับรองแล้ว และความจริงก็เปิดโอกาสอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าได้ แต่ข้อเท็จจริงยังไม่มีใครนำเข้ามา เพราะมีขั้นตอนการนำเข้าและผ่านขั้นตอน อย.รับรอง แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ประเทศไทยก็จะสามารถผลิตได้เอง โดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านโด๊ส ซึ่งความต้องการของประชาชนก็จะน้อยกว่าตอนนี้

 

ทางด้าน พล.ต.ต.ยุทธชัย พัวประเสริฐ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 หนึ่งในผู้ฉีดวัคซีนรอบแรก กล่าวว่า มั่นใจในวัคซีนที่นำเข้ามาจึงสมัครใจฉีดก่อน และไม่รู้สึกเจ็บเลย ก่อนตัดสินใจได้ศึกษาข้อมูลมาหลายด้านแล้วเช่นกันว่าไม่มีผลต่อร่างกาย จึงไม่รู้สึกกังวลเพราะมั่นใจในสุขภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่จัดทำแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID -19 รอบแรก เป็นวัคซีน COVID 19 ของบริษัท Sinovac โดยนำเสนอผ่านมติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่แล้วในการประชุมครั้งที่ 27/2563 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 โดยแผนการฉีดวัคซีนรอบแรกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1. รอบแรก เดือนมีนาคม 2564 จำนวน 3,500 โด๊ส ฉีดกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1,750 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 1,450 คน และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป โดยจะเน้นที่หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าสมาคม และผู้นำองค์กรที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 300 คน ซึ่งจะทำการฉีดที่โรงพยาบาลนครพิงค์ทั้งหมด 2. รอบแรก เดือนเมษายน 2564 จำนวน 32,000 โด๊ส ฉีดกลุ่มเสี่ยงจำนวน 16,000 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7,200 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 500 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 4,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 6 กลุ่มโรค 3,800 คน ประชาชนทั่วไปและแรงงาน เน้นในกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 500 คน โดยกระจายการฉีดออกไปในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด และโรงพยาบาลรัฐทุกอำเภอ 3. รอบแรก เดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 48,000 โด๊ส ฉีดกลุ่มเสี่ยงจำนวน 24,000 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,500 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 4,500 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 6 กลุ่มโรค 9,000 คน ประชาชนทั่วไปและแรงงาน เน้นในกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 2,000 คน โดยกระจายการฉีดออกไปในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด และโรงพยาบาลรัฐทุกอำเภอ สำหรับประชาชนทั่วไปและผู้สูงอายุ จะดำเนินการฉีดในรอบที่ 2 ด้วยวัคซีน COVID – 19 ของบริษัท Astra Zenaca ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง