รีเซต

"เทสโก้โลตัส" กลับสู่มือคนไทย พลิกตำราค้าปลีกเปิดโอกาสรายย่อย เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน

"เทสโก้โลตัส" กลับสู่มือคนไทย พลิกตำราค้าปลีกเปิดโอกาสรายย่อย เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน
มติชน
2 สิงหาคม 2563 ( 17:08 )
100
"เทสโก้โลตัส" กลับสู่มือคนไทย พลิกตำราค้าปลีกเปิดโอกาสรายย่อย เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน

ย้อนกลับไป 28 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ไฮเปอร์มาร์ท อย่างโลตัส หรือ บิ๊กซี ซึ่งในช่วงเวลานั้นเอง ต้องอาศัยคนใจกล้า มาบุกเบิกตลาดในประเทศไทย ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากมายในช่วงเวลานั้น โดยกลุ่มซีพีริเริ่ม เปิดโลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ และขยายตัวเรื่อยมา กระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากอยู่ไม่รอด หลายรายต้องเลิกกิจการ

ขณะที่อีกหลายรายก็ต้องขายกิจการให้กับเจ้าใหญ่ไป เสมือนกับการเสียเอกราชด้านไฮเปอร์มาร์ทไปให้กับธุรกิจในต่างประเทศ อาทิ เซ็นทรัลที่ขายหุ้นในคาร์ฟูร์ คืนให้บริษัทแม่จากฝรั่งเศส และซีพีก็ขายโลตัส ให้กับเทสโก้ จากอังกฤษ จนกลายมาเป็นเทสโก้ โลตัส เท่ากับว่าวิกฤตในครั้งนั้น ทำให้เหลือผู้เล่นใหญ่ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 ราย คือบิ๊กซี , คาร์ฟูร์ และเทสโก้ โลตัส โดยมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ โดยในช่วงเวลานั้นคาสิโน กรุ๊ป จากฝรั่งเศสเข้ามาเพิ่มทุนในบิ๊กซี ของเซ็นทรัล จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบิ๊กซี

กลับมาสู่ธุรกิจไฮเปอร์มาร์ทในยุคปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ 27 ปีของตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต กลับมาสู่มือคนไทยเป็นเจ้าของอีกครั้ง โดยเทสโก้ โลตัส กำลังจะกลับมาอยู่ในมือคนไทย โดยกลุ่มซีพี ประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย แต่การแข่งขันในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้บริการออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีก ต้องปรับตัวกันอย่างหนัก ทำให้ตลาดการแข่งขันในวันนี้ต้องนับรวมผู้เล่นในตลาดออนไลน์มาแข่งขันด้วย

การส่งถึงบ้าน การขยายร้านไปทุกมุมถนนของร้านอาหาร เช่น แมคโดนัลด์, สตาร์บัคส์ , เบอร์เกอร์คิง ล้วนเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ทำให้การแข่งขันในตลาดไฮเปอร์มาร์ทในยุคปัจจุบัน ต้องพลิกตำรากันอย่างมาก และถือเป็นแพลตฟอร์มการค้าหลัก ในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย เถ้าแก่เล็ก กลาง ใหญ่ ได้ใช้ช่องทางไฮเปอร์มาร์ท ในการเปิดตลาด สู้กับผู้เล่นจากต่างประเทศ ที่ขยายช่องทางเข้ามาสู่ตลาดเมืองไทยเป็นอย่างมาก

ไฮเปอร์มาร์ท ต้องปรับตัวอย่างหนัก รวมถึงยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษอย่างเทสโก้ รายงานผลประกอบการประจำปีสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2462 ผลการดำเนินการก่อนหักภาษีขาดทุนถึง 6.4 พันล้านปอนด์ หรือ 3.1 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไรก่อนหักภาษีที่ 2.26 พันล้านปอนด์ และก่อนหน้านั้นบริษัทได้ทยอยขายกิจการในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ตุรกี ญี่ปุ่น จีน รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา

ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงกดดันจากคู่แข่งค้าปลีกในทวีปยุโรป หนี้บริษัทที่มีมหาศาล ทำให้การกลับมาสู่มือคนไทยนั้น ต้องใช้มืออาชีพในการบริหาร และเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเป็นช่องทางค้าปลีก อาจมองได้ว่าได้ว่าเทสโก้ โลตัส เติบโตเคียงคู่กับสังคมไทย พร้อมกับการให้ความสำคัญในการสร้างประโยชน์และใส่ใจดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า ชุมชน คู่ค้า และสิ่งแวดล้อม ความใส่ใจเหล่านี้อยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของเทสโก้ โลตัส อยู่แล้ว

นอกจากนี้กลุ่มซีพี ยังมีประสบการณ์ในการบริหารโลตัสในประเทศจีน ทำให้ผสมผสานประสบการณ์ที่สั่งสมมาช่วงโลตัสอยู่ในมือของเทสโก้ ทำให้รูปแบบบริหารเป็นการต่อยอด ที่ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้ประโยชน์ รวมทั้งช่วงที่ผ่านมากลุ่มซีพี ได้ผลักดันเรื่องของความยั่งยืนอย่างหนัก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของเทสโก้ โลตัส ซึ่งมีการยกระดับการทำงานในด้านความยั่งยืน จากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่ระดับนโยบายที่ถูกผนวกเข้ากับแผนการดำเนินงานทางธุรกิจและไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อาทิ นโยบายการจัดหาสินค้ามาและขายไปอย่างยั่งยืน ซึ่งลูกค้าของโลตัสจะต้องสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพสูง มาจากแหล่งที่ยั่งยืน ดีต่อสุขภาพ และมีราคาที่เอื้อมถึงได้

ฉะนั้นที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัส ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (sustainable sourcing) ที่คำนึงถึงจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร นอกจากจะต้องมีคุณภาพสูง ทำจากวัตถุดิบที่ดี มีรสชาติอร่อย มีราคาที่เอื้อมถึงได้แล้ว จะต้องดีต่อสุขภาพอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของกลุ่มซีพี ที่เดินหน้าเรื่องอาหารปลอดภัย

นโยบายด้านความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานของเทสโก้ โลตัสทุกคน ในฐานะองค์กรที่มีการจ้างงานพนักงานเกือบ 50,000 ตำแหน่ง ที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัส ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้พนักงานได้ก้าวสู่จุดหมายของชีวิต ซึ่งรวมทั้งโอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพ การพัฒนาทักษะและศักยภาพของพนักงาน นอกเหนือจากค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ปัจจุบันพนักงานในสาขา 80-90% เป็นคนในท้องถิ่น นอกจากพนักงานประจำแล้ว ยังมีนโยบายจ้างงานเพื่อสนับสนุนโครงสร้างสังคมไทย อาทิ การจ้างงานผู้เกษียณอายุใน “โครงการ 60 ยังแจ๋ว” การจ้างงานนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น

ด้านชุมชน ถือเป็นสิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัสเน้นการมอบอาหารคุณภาพสูงให้ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้ง “โครงการอาหารดีพี่ให้น้อง” ที่มอบอาหารกลางวันเปี่ยมคุณค่าโภชนาการให้เด็กนักเรียน 77 โรงเรียน ใน 77 จังหวัด และบริจาคอาหารที่ยังทานได้แต่จำหน่ายไม่หมดจากไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ อีกด้วย ดังนั้น ทิศทางในอนาคตจะเป็นการขยายผลเรื่องชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง

ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นนโยบายที่จะได้รับการสานต่อและพัฒนาอย่างเป็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปัญหาขยะเป็นปัญหาที่เร่งด่วน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส มุ่งลดขยะพลาสติกและเป็นผู้นำด้านการลดขยะอาหาร และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกมาโดยตลอด เช่น งดใช้ถุงพลาสติกเมื่อลูกค้าซื้อสินค้า 1-2 ชิ้น ในร้านค้าขนาดเล็กทั้ง 1,800 แห่งทั่วประเทศ และเลิกใช้หลอดพลาสติกและถาดโฟมทั้งหมดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป้าหมายด้านความยั่งยืนในระยะยาว จะมีการนำมาขับเคลื่อน อาทิ 1.การจัดหาผลิตภัณฑ์ผักใบพื้นบ้านทั้งหมด 100% จะมาจากการซื้อตรงจากเกษตรกร และ 2.ด้านสุขภาพ สินค้าประเภทอาหารที่พัฒนาขึ้นมาร่วมกับผู้ประกอบการรายย่อยใหม่ทั้งหมดจะต้องดีขึ้นต่อสุขภาพผู้บริโภค 3.เรื่องบรรจุภัณฑ์ จะต้องทำมาจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ และ 4. ลดการทิ้งอาหารภายในธุรกิจของเทสโก้ โลตัสลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง