'ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์' ชี้ 'ศบค.' ทยอยผ่อนคลายได้อีก ดริงก์โตตามภาคท่องเที่ยวอีก 3 เดือน
ข่าววันนี้ นายธนากร คุปตจิตต์ อดีตนายกสมาคม ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวกับ “มติชน” ว่า มติของ ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 20 มกราคม ว่า เห็นได้ชัดเจนว่าทาง ศบค.ชุดใหญ่ ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง และรายละเอียดรอบด้านแล้ว จึงได้มีมติให้มีการปรับปรุงแก้ไขพื้นที่ที่ควบคุมโควิดในแต่ละจังหวัด โดยแบ่งเป็นสามพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีส้ม) จากเดิม 69 จังหวัด เหลือ 44 จังหวัด และผุดพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 25 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีฟ้าที่เรียกว่า “พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว” ยังคงไว้ 8 จังหวัดเหมือนเดิม ทั้งนี้ ศบค. ชุดใหญ่ ได้มีมติภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งสองมิติใหญ่ คือ ด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กัน
ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์และข้อมูลทางด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน คือ โอมิครอน ว่าเป็นไวรัสที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วแต่มีอันตรายน้อยเพราะไม่ลงปอด จนมีแพทย์บางท่านได้ใช้คำว่า “ไวรัสฮีโร่”
“ภาคเอกชนต่างๆ ก็ได้ออกมาเรียกร้องและแสดงความเห็นต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอน ดังกล่าว ที่รัฐบาล หรือ ศบค. ต้องตัดสินใจในการบริหารจัดการสถานการณ์นี้อย่างรอบคอบและโดยเร็ว
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่ภาคธุรกิจไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านในการที่รัฐบาล หรือ ศบค. จะได้มีการออกหรือขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปเลย เพราะเข้าใจและถือว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในกรณีที่หากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดที่หนักขึ้น รัฐบาลหรือ ศบค. ก็สามารถออกประกาศหรือคำสั่งใดที่จะมาช่วยการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ” นายธนากรกล่าว
นายธนากรกล่าวต่อว่า เป็นที่ทราบดีว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะเรามีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งธุรกิจบริการจะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดเพราะส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แม้รัฐบาลจะได้มีการออกมาตรการมาเยียวยาช่วยเหลือ ก็ยังไม่เพียงพอ
ประกอบกับรัฐบาลก็มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดหารายได้อีกด้วย จากมติของ ศบค.นี้ กลุ่มธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องน่าจะได้มีโอกาสขยับขยายผ่อนคลายความเสียหายได้บ้าง เพราะปัจจุบันได้มีการปรับตัวไปบ้างแล้ว แต่ก็เป็นไปแบบเปิดๆ ปิดๆ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เกิดมีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น (คงต้องพึ่งพาในประเทศเป็นหลักก่อน โดยเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาด้วย เช่น test & go, เพิ่มพื้นที่ทำ sandbox ในหลาย พื้นที่ เป็นต้น
นายธนากรกล่าวอีกว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบริการและบรรยากาศในการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการกินดื่มคู่กับอาหาร การสังสรรค์ภายใต้วิธีการใหม่ที่ถูกกำกับดูแลแบบSHA+ ล้วนแต่สามารถสร้างการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี หลังจากนี้ก็ยังมีโอกาศกับธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวต่อไปได้อีกประมาณ 3-4 เดือน ก็อาจจะเป็นสิ่งช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจได้ดี
เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมแต่ละจังหวัดแต่ละภาค มีอาหารที่ดีราคาถูก เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เชื่อว่าช่วงนี้จะได้ถือเอาวิกฤตเป็นโอกาสที่เราจะได้เตรียมตัวในการที่จะพร้อมกลับมาฟื้นฟูใหม่ตามที่มีหลายๆ สำนักพยากรณ์และคาดการณ์ว่าทุกอย่างจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 นี้