รีเซต

สถาบันอาหารขึงเป้าส่งออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท หวังครึ่งปีหลักพลิกเป็นบวกฮึดสู้โควิด-19

สถาบันอาหารขึงเป้าส่งออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท หวังครึ่งปีหลักพลิกเป็นบวกฮึดสู้โควิด-19
ข่าวสด
14 สิงหาคม 2563 ( 16:54 )
74
สถาบันอาหารขึงเป้าส่งออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท หวังครึ่งปีหลักพลิกเป็นบวกฮึดสู้โควิด-19

 

สถาบันอาหารขึงเป้าส่งออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท หวังครึ่งปีหลักพลิกเป็นบวกฮึดสู้โควิด-19 - ขณะที่แนวโน้มการค้าอาหารโลกช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่า 645,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8%

ส่งออกอาหารทะลุ1ล้านล. - นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยปี 2563 คาดมีมูลค่าอยู่ที่ 1,025,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% โดยครึ่งปีหลังคาดจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่มูลค่า 519,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% หลังจากครึ่งปีแรกมีมูลค่า 505,584 ล้านบาท หดตัวลง 2% จากภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยครึ่งปีแรกหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.6% ขณะที่แนวโน้มการค้าอาหารโลกช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่า 645,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8%

 

ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความต้องการอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินงานได้มากขึ้น ช่องทางค้าปลีกขยายตัวช่วยชดเชยการลดลงของการจำหน่ายในช่องทางโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหารได้ระดับหนึ่ง เงินบาทจะไม่แข็งค่าและไม่ผันผวนมากจนเกินไปในกรอบที่เหมาะสม 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และแรงกดดันจากภาวะขาดแคลนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้น

 

โดยสินค้าหลักที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นในช่วงหลังของปีนี้ ได้แก่ ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งสับปะรด ขณะที่สินค้าที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะลดลง ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง และมะพร้าว ตามความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารของประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อรองรับโควิด-19 หลังภาครัฐของแต่ละประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

 

สำหรับการส่งออกอาหารของไทยช่วงครึ่งปีแรกหดตัวลงเล็กน้อย 2% มีมูลค่า 505,584 ล้านบาท เป็นผลจากสินค้าส่งออกที่หดตัว ได้แก่ ข้าว -14.9% น้ำตาลทราย -12.8% แป้งมันสำปะหลัง -12.2% กุ้ง -13.2% สับปะรด -1% และมะพร้าว -15% โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงช่องทางจำหน่ายที่หดตัว กระทบต่อการส่งออกกุ้งและมะพร้าวในรูปของกะทิสำเร็จรูป โดยเฉพาะช่องทางจำหน่ายในกลุ่มธุรกิจปลายน้ำอย่างโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหารที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้

 

นางอนงค์ กล่าวต่อว่า ตลาดที่ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ จีน +27.4% สหรัฐ +14% และโอเชียเนีย +8.5% ส่วนตลาดที่หดตัว ได้แก่ อาเซียน -7.4% ญี่ปุ่น -2.5% สหภาพยุโรป -11.4% แอฟริกา -33.3% และตะวันออกกลาง -12.5%

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้ร่วมแถลงข่าว 3 องค์กร เรื่อง สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ณ สถาบันอาหาร ว่า แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และภาพรวมปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวก การส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 519,416 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% และภาพรวมปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 1,025,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8%

 

หากพิจารณาผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยครึ่งปีแรกหดตัวลงมาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลเป็นรายไตรมาส พบว่าการผลิตหดตัวรุนแรงในไตรมาสแรก ก่อนที่จะหดตัวน้อยลงในไตรมาสที่ 2 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หดตัวลง 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากมาตรการปิดเมือง (Lockdowns) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส (โควิด-19) ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว

 

รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมที่กระทบต่อปริมาณผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะในสาขาการผลิตน้ำตาล การแปรรูปมันสำปะหลัง และการผลิตสับปะรด

อย่างไรก็ตาม การผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 หดตัวลง 5.7% น้อยลงมากเมื่อเทียบกับที่หดตัว 10.9% ในไตรมาสแรก เนื่องจากหลายประเทศมีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

 

สำหรับสาขาการผลิตสำคัญที่หดตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ น้ำตาลทราย (-38.0%), แป้งมันสำปะหลัง (-4.9%), กุ้งแช่แข็ง (-3.9%), และสับปะรดกระป๋อง (-7.9%) ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ การแปรรูปเนื้อไก่ (+3.1%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+18.1%), เครื่องปรุงรส (+3.9%) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+10.7%) เป็นต้น

 

ส่วนสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ ไก่สดและแปรรูป (+2.1%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+10.0%), เครื่องปรุงรส (+6.6%), และอาหารพร้อมรับประทาน (+15.8%) ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ประเทศต่างๆ มีความต้องการนำเข้าอาหารเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่วนสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว (-14.9%), น้ำตาลทราย (-12.8%), แป้งมันสำปะหลัง (-12.2%), กุ้ง (-13.2%), สับปะรด (-1.0%) และมะพร้าว (-15.0%) เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง