มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จับมือมูลนิธิเชฟแคร์ส ร่วมลงนาม MOU ดัน “อาหารชาววัง” เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์”
15 ธันวาคม 2565 – มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมูลนิธิเชฟแคร์ส ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีเป้าหมายเพื่อสืบสาน เผยแพร่ และต่อยอดมรดกวัฒนธรรมอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักไปไกลในเวทีโลกผ่านการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย ตลอดจนสร้างแหล่งความรู้ออนไลน์และส่งเสริมประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรมในการผลักดันมรดกภูมิปัญญาอาหารไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) สำคัญในการยกระดับและพัฒนาประเทศพร้อมแข่งขันในเวทีโลกโดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และนางมาริษา เจียรวนนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิเชฟแคร์ส ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีองค์ความรู้ทางด้านอาหารไทยชาววังตำรับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้ตกทอดสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจวบจนปัจจุบัน และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องนี้ให้แก่นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และขับเคลื่อนนโยบายในการสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ซึ่งความร่วมมือกับมูลนิธิเชฟแคร์สในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาอาหารไทยชาววัง ไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ให้มีการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและบุคคลภายนอกที่มีความสนใจในเรื่องอาหารไทยชาววัง อีกทั้งสนับสนุนให้มีการผลิตและเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ที่มีคุณค่า อันเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่และต่อยอดมรดกวัฒนธรรมอาหารไทยให้ไปไกลถึงเวทีโลก
“ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้การบริการวิชาการพัฒนาหลักสูตร มุ่งเน้นทักษะวิชาชีพด้านอาหารไทยชาววัง ให้นักศึกษารวมไปถึงผู้ด้อยโอกาส ได้มีโอกาสเข้าถึงตำรับอาหารไทยชาววัง พร้อมช่วยส่งเสริม Soft Power นำอาหารไทยไปสู่เวทีโลก” รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ กล่าว
นางมาริษา เจียรวนนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิเชฟแคร์ส กล่าวว่า อาหารไทยถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ ที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญในการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรับอาหารชาววังที่ถือมรดกภูมิปัญญาอาหารไทยที่มีคุณค่าและควรสืบสาน ต่อยอองค์ความรู้และวิจัยในการสร้างสรรค์เมนูอาหารที่มีรากมาจากตำรับอาหารไทยดั่งเดิมชาววังให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกันพันธกิจของมูลนิธิเชฟแคร์สที่สำคัญคือการส่งเสริมการศึกษา เผยแพร่องค์ความรู้ สื่อสารผลักดันอาหารไทยไปสู่เวทีโลก รวมถึงสร้างทรัพยากรทางบุคคลใหม่ๆ ในวงการธุรกิจอาหาร ดังนั้นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการและวิชาชีพเพื่อสืบสาน เผยแพร่ และต่อยอดมรดกวัฒนธรรมอาหารไทยให้ไปไกลถึงเวทีโลก
นางมาริษา กล่าวต่อว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ด้านหลักคือ 1.สนับสนุนด้านค้นคว้าวิจัย (Research) ผ่านความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอาหารไทยมาพัฒนาความรู้จากงานวิจัยไปปรับประยุกต์ใช้ต่อได้ เช่น การพัฒนาสูตรอาหารชาววังอย่างเมนูน้ำพริกลงเรือที่มีต้นตำรับเกิดขึ้นในรั้ววังสวนสุนันทาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง 2. ส่งเสริมความรู้ด้านอาหารไทยผ่านการสอนและเผยแผ่องค์ความรู้จากการวิจัย (Teaching and Communications) ด้วยการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่นำเชฟชั้นนำระดับประเทศจากมูลนิธิเชฟแคร์สไปร่วมสอนในหลักสูตรที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รวมไปถึงสร้างคลังความรู้ออนไลน์ในการเผยแพร่งานวิจัยในรูปแบบเว็บไซต์ “รสชาติไทย” ให้คนทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้าตำรับตำราอาหารไทยที่ทรงคุณค่า และ 3.การสร้างประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรม (Experience and Activation) คือการร่วมพัฒนาและสร้างเมนูอาหารด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ทางด้านอาหารให้กับคนในสังคมต่อไปในอนาคต
“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ มูลนิธิเชฟแคร์ส เพื่อต่อยอดการวิจัยอาหารชาววัง และประชาสัมพันธ์มรดกวัฒนธรรมอาหารไทยไปสู่เวทีโลก” นางมาริษา กล่าว