รีเซต

นาซีส่งทีมแกะรอยหาแหล่งที่มาของชาวอารยันในทิเบต

นาซีส่งทีมแกะรอยหาแหล่งที่มาของชาวอารยันในทิเบต
ข่าวสด
17 กันยายน 2564 ( 00:18 )
50
นาซีส่งทีมแกะรอยหาแหล่งที่มาของชาวอารยันในทิเบต

ในปี 1938 ไฮน์ริก ฮิมม์เลอร์ สมาชิกแกนนำของพรรคนาซีของเยอรมนี และคนสำคัญที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้น ได้ส่งคณะที่มีสมาชิก 5 คน เดินทางผ่านอินเดียไปยังทิเบต เพื่อค้นหาต้นกำเนิดของเชื้อสายอารยัน

 

 

นักเขียนนามว่าไวบาฟ ปูรันดาเร ได้เล่าเรื่องราวอันน่าสนใจของการเดินทางครั้งนี้ไว้

 

 

หนึ่งปีเศษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มต้นขึ้น กลุ่มชาวเยอรมันได้แอบเดินทางมาถึงพรมแดนทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ภารกิจของพวกเขาคือการค้นหา "แหล่งต้นกำเนิดของเชื้อสายอารยัน"

 

 

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เชื่อว่าชาว "อารยัน" ซึ่งเป็นคนยุโรปทางเหนือหรือนอร์ดิก ได้เดินทางเข้าไปในอินเดียจากทางตอนเหนือราว 1,500 ปีก่อนหน้านั้น และชาวอารยันได้กระทำ "ความผิด" ในการคบค้ากับคน "ที่ไม่ใช่อารยัน" ในพื้นที่ ทำให้สูญเสียคุณสมบัติที่ทำให้ชาวอารยันเป็นเชื้อสายที่สูงส่งกว่าคนเชื้อสายอื่น ๆ

 

 

ฮิตเลอร์แสดงความเกลียดชังอย่างรุนแรงที่มีต่อคนอินเดียและการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของพวกเขาอยู่เป็นประจำ ผ่านการพูด การเขียน และการอภิปรายของเขา

แต่กระนั้น ฮิมม์เลอร์ หนึ่งในผู้แทนระดับสูงของฮิตเลอร์และเป็นหัวหน้าของเอสเอส (SS ย่อมาจาก Schutzstaffel หมายถึง กลุ่มชนชั้นนำที่แต่งเครื่องแบบสีดำ และเรียกตัวเองว่า "ทหารการเมือง" ของพรรคนาซี) ระบุว่า คุ้มค่าที่จะเข้าไปดูอนุทวีปอินเดียอย่างใกล้ชิด

 

 

ทิเบตจึงได้เข้ามาปรากฏอยู่ในเรื่องราวนี้

 

 

ผู้ที่ยอมรับแนวคิดที่ว่า เชื้อสายชาวยุโรปทางเหนือมีความสูงส่ง คือผู้ที่เชื่อเรื่องเล่าแอตแลนติส นครที่สาบสูญ ซึ่งเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของคนที่ "มีเชื้อสายบริสุทธิ์ที่สุด" โดยเชื่อว่า นครแห่งนี้ตั้งอยู่จุดใดจุดหนึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างอังกฤษและโปรตุเกส ว่ากันว่า เกาะลึกลับนี้จมลงหลังจากถูกอสุนีบาตของพระเจ้าถล่ม

 

 

ชาวอารยันทุกคนที่รอดชีวิตจึงย้ายไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น เชื่อว่า ภูมิภาคหิมาลัยเป็นหนึ่งในที่หลบภัยเหล่านั้น โดยเฉพาะทิเบต เพราะได้ชื่อว่าเป็น "หลังคาโลก"

 

 

ในปี 1935 ฮิมม์เลอร์ ก่อตั้งหน่วยภายในเอสเอสที่ชื่อว่า Ahnenerbe หรือ สำนักงานมรดกบรรพบุรุษ เพื่อค้นหาว่าคนจากแอตแลนติสไปอยู่ที่ไหน หลังจากเกิดอสุนีบาตและน้ำท่วมใหญ่ และค้นหาว่า ร่องรอยของเชื้อสายอันยิ่งใหญ่หลงเหลืออยู่ที่ใดบ้าง

 

 

ในปี 1938 เขาได้ส่งคณะชาวเยอรมัน 5 คน ไปยังทิเบต เพื่อ "ปฏิบัติการค้นหา" นี้

 

 

สมาชิกในคณะ 2 คนที่มีความโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ คือ แอร์นสต์ เชเฟอร์ นักสัตววิทยาวัย 28 ปี ที่มีพรสวรรค์ เขาเคยเดินทางไปพรมแดนอินเดีย-จีน-ทิเบต ก่อนหน้านั้นมาแล้ว 2 ครั้ง เชเฟอร์ได้เข้าร่วมเอสเอส ไม่นานหลังจากที่นาซีคว้าชัยในปี 1933 ก่อนที่ฮิมม์เลอร์จะได้เป็นผู้สนับสนุนให้เขาเข้าร่วมคณะเดินทางไปทิเบตครั้งนี้

 

 

เชเฟอร์คลั่งไคล้การล่าสัตว์และสะสมถ้วยรางวัลไว้ในบ้านที่กรุงเบอร์ลินของเขา ในการออกเดินทางล่าสัตว์ครั้งหนึ่ง ขณะที่เล็งปืนเพื่อยิงเป็ดจากเรือที่เขาและภรรยานั่งอยู่ เขาเสียหลักลื่นล้ม ปืนลั่นไปโดนศีรษะของภรรยาโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เธอเสียชีวิต

 

 

ผู้ร่วมคณะสำคัญอีกคนหนึ่งคือ บรูโน เบเกอร์ นักมานุษยวิทยาหนุ่มที่เข้าร่วมเอสเอสในปี 1935 เบเกอร์ จะทำหน้าที่วัดกะโหลกและรายละเอียดของใบหน้าชาวทิเบต และทำหน้ากาก เขาอธิบายเหตุผลของการทำเช่นนี้ว่า "เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วน ต้นกำเนิด ความสำคัญและการพัฒนาของเชื้อสายนอร์ดิกในภูมิภาคนี้"

เรือที่บรรทุกชาวเยอรมันทั้ง 5 คน เข้ามาเทียบท่าที่กรุงโคลอมโบของศรีลังกาในช่วงต้นเดือน พ.ค. 1938 จากที่นั่น พวกเขาได้นั่งเรือลำที่สองไปยังเมืองมาดราส (ปัจจุบันคือเชนไน) และเรือลำที่สามไปยังเมืองกัลกัตตา (ปัจบันคือ โกลกาตา)

เจ้าหน้าที่ทางการอังกฤษในอินเดีย กังวลเกี่ยวกับชาวเยอรมันที่กำลังเดินทางเหล่านี้ และคิดว่าพวกเขาเป็นสายลับ ในตอนแรกพวกเขาไม่เต็มใจที่จะให้คณะชาวเยอรมันเดินทางผ่านอินเดีย โดยไทมส์ ออฟ อินเดีย (Times of India) ที่บริหารงานโดยอังกฤษ พาดหัวข่าวกล่าวหาพวกเขาว่าเป็น "สายลับเกสตาโปในอินเดีย"

 

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองชาวอังกฤษในเมืองกางท็อก รัฐสิกขิมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นราชอาณาจักรที่เป็นเอกราช ก็ไม่ต้องการที่จะให้ชาวเยอรมันกลุ่มนี้เดินทางเข้าทิเบตผ่านทางสิกขิมเช่นกัน

 

 

แต่ท้ายที่สุด สมาชิกนาซีกลุ่มนี้ก็แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้สำเร็จและในช่วงปลายปีนั้นเอง ชาวเยอรมันทั้ง 5 คน พร้อมกับธงสวัสติกะที่ติดอยู่กับล่อและกระเป๋าเดินทางของพวกเขา ก็ได้เดินทางเข้าทิเบต

 

 

สวัสติกะเป็นเครื่องหมายที่พบเห็นได้ทุกหนแห่งในทิเบต คนในพื้นที่รู้จักกันในชื่อว่า "ยุงดรุง" (yungdrung) เชเฟอร์ และคณะ คงจะพบเห็นเครื่องหมายนี้จำนวนมากในช่วงที่เดินทางอยู่ในอินเดียเช่นกัน ซึ่งในหมู่ชาวฮินดู ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคดีมาเป็นเวลานานแล้ว แม้แต่ในปัจจุบันนี้ สัญลักษณ์นี้ ก็พบเห็นอยู่นอกบ้าน ภายในวัด ตามหัวมุมถนน และด้านหลังรถบรรทุก

ส่วนในทิเบต สิ่งต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไป

ดาไล ลามะ องค์ที่ 13 สิ้นพระชนม์ในปี 1933 และดาไล ลามะ พระองค์ใหม่ ทรงมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา ดังนั้นราชอาณาจักรทิเบตที่นับถือพุทธศาสนา จึงถูกควบคุมโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ชาวเยอรมันได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และชาวทิเบตสามัญชน เบเยอร์ ซึ่งทำหน้ากาก ได้ทำหน้าที่คล้ายกับแพทย์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่อยู่ช่วงเวลาหนึ่งด้วย

 

 

 

สิ่งที่ชาวพุทธทิเบตไม่รู้คือ ในจินตนาการอันแปลกประหลาดของนาซี ศาสนาพุทธก็ไม่ต่างจากศาสนาฮินดู เป็นศาสนาที่ทำให้ชาวอารยันที่เดินทางมายังทิเบตอ่อนแอ และส่งผลให้สูญเสียจิตวิญญาณและความกล้าหาญของพวกเขา

เมื่อเชเฟอร์และคนอื่น ๆ สามารถใช้เวลาในการสำรวจ "การวิจัย" ที่แท้จริงของพวกเขาในนามของการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลานานขึ้นในหลายด้านอย่าง สัตววิทยาและมานุษยวิทยา แต่สงครามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ทำให้การเดินทางของชาวเยอรมันกลุ่มนี้ต้องยุติลงในเดือน ส.ค. 1939

 

 

ในตอนนั้น เบเกอร์ได้วัดกะโหลกศีรษะและลักษณะต่าง ๆ ของชาวทิเบต 376 คน ถ่ายภาพ 2,000 ภาพ "ทำรูปหล่อศีรษะ ใบหน้า มือ และหู ของคน 17 คน" และเก็บ "เล็บและลายนิ้วมือของคนอีก 350 คน"

 

 

เขายังได้รวบรวม "สิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับชาติพันธุ์วรรณา" 2,000 ชิ้น และสมาชิกอีกคนในคณะได้ถ่ายภาพยนตร์ฟิล์มขาวดำยาว 18,000 เมตร และถ่ายภาพ 40,000 ภาพ

 

 

การที่ต้องย่นเวลาการสำรวจให้สั้นลง ฮิมม์เลอร์ได้จัดการให้คณะชาวเยอรมันกลุ่มนี้เดินทางโดยเครื่องบินออกจากกัลกัตตาในช่วงสุดท้าย และเขาก็เดินทางไปต้อนรับพวกเขาขณะเดินทางมาถึงเมืองมิวนิกด้วยตัวเอง

 

 

เชเฟอร์นำ "ทรัพย์สมบัติ" ทิเบตของเขาส่วนใหญ่ไปไว้ที่ปราสาทแห่งหนึ่งในซาลซ์บวร์ก ที่เขาย้ายเข้าไปอยู่ในช่วงสงคราม แต่เมื่อกองกำลังสัมพันธมิตรเข้ามาในปี 1945 ปราสาทถูกโจมตีและภาพของชาวทิเบตส่วนใหญ่และวัตถุอื่น ๆ ถูกทำลาย

 

 

สิ่งที่เรียกว่า "ผลทางวิทยาศาสตร์" อื่น ๆ จากการเดินทางสำรวจครั้งนี้ ก็เผชิญชะตากรรมเดียวกันในสงคราม หากไม่สูญหายก็ถูกทำลาย และความน่าอับอายของอดีตของนาซี ทำให้ไม่มีใครพยายามที่จะแกะรอยหาวัตถุต่าง ๆ เหล่านี้ในช่วงหลังสงคราม

 

 

ไวบาฟ ปูรันดาเร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Hitler And India: The Untold Story of His Hatred For the Country And Its People (อาจแปลเป็นไทยได้ว่า ฮิตเลอร์และอินเดีย : เรื่องราวที่ไม่เคยมีใครบอกเล่าเกี่ยวกับ ความเกลียดชังของเขาที่มีต่อประเทศและผู้คนของอินเดีย) ตีพิมพ์โดยเวสต์แลนด์ บุ๊กส์ (Westland Books)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง