คืนชีพข้อตกลงนิวเคลียร์? เมื่ออิหร่านยอมนั่งโต๊ะเจรจา ถกผ่อนคว่ำบาตรแลกไม่พัฒนานิวเคลียร์
การเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจ จะมีขึ้นที่กรุงเวียนนา ของออสเตรียในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้
◾◾◾
🔴 ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านคืออะไร?
ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 เริ่มขึ้นจากการที่ชาติมหาอำนาจของโลกไม่ไว้วางใจอิหร่าน หลายประเทศเชื่อว่าอิหร่านต้องการพัฒนานิวเคลียร์ เพื่อนำมาสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาคมโลก แม้อิหร่านปฏิเสธมาโดยตลอดก็ตาม
ความคลางแคลงใจดังกล่าวนำมาสู่การบรรลุข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับอีก 6 ประเทศ ในปี 2015 ที่กำหนดให้อิหร่านต้องจำกัดการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม เพื่อแลกกับการยุติบทลงโทษที่รุนแรง หรือการคว่ำบาตรที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
◾◾◾
🔴 แต่ว่าปัญหาตอนนี้คืออะไร?
นั่นคือ อิหร่านเริ่มกลับมาสะสมยูเรเนียมเสริมสมรรถนะอีกครั้ง หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงอิหร่านเมื่อ 3 ปีก่อน
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อิหร่านเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม เพิ่มความบริสุทธ์เป็น 60% ใกล้มาตรฐานการผลิตอาวุธเข้าไปทุกที ทั้งนี้แร่ยูเรเนียมที่จะนำไปผลิตหัวรบนิวเคลียร์ได้นั้น จะต้องมีความบริสุทธิ์ถึง 90%
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ปี 2015 โดยให้เหตุผลว่า ข้อตกลงดังกล่าวที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา สร้างความเสียหายและไม่สามารถหยุดยั้งอิหร่านจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกลับมาใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจระดับสูงสุด ต่ออิหร่าน เพื่อต่อรองให้รัฐบาลอิหร่านลดทอนศักยภาพด้านนิวเคลียร์ ส่งผลให้อิหร่านไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เก็บอยู่ในธนาคารหลายแห่งในต่างประเทศได้มานาน 3 ปีแล้ว
ขณะที่พันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ 3 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ยังคงรักษาสถานะของพวกเขาในข้อตกลงดังกล่าว ที่มีรัสเซียและจีนร่วมอยู่ด้วย
และแม้ในตอนนั้น ทรัมป์จะระบุว่า ยังเปิดกว้างต่อการเจรจาครั้งใหม่ แต่รัฐบาลอิหร่านก็ไม่ได้ให้ความสนใจ
◾◾◾
🔴 ความขัดแย้งกับอิหร่านในยุคไบเดน
เมื่อมาถึงยุคของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯคนปัจจุบันต้องการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 กลับมาใหม่ แต่ก็ยังเกิดการเกี่ยงกันระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน โดยอิหร่านก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการคว่ำบาตรก่อน ขณะที่สหรัฐฯ ก็ขอให้อิหร่านเลิกพัฒนานิวเคลียร์ก่อน จึงจะมีการเจรจาอีกครั้ง
หลังการเจรจา 6 รอบระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจตะวันตกที่ยังอยู่ในข้อตกลงดังกล่าว และสหรัฐฯ ที่มีส่วนร่วมในทางอ้อม บวกกับอิหร่านถูกกดดันอย่างหนัก และถูกเตือนว่า อิหร่านกำลังเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์ ไปสู่ระดับอันตราย และไปไกลเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 แล้ว
ซึ่งจะทำให้ข้อตกลงดังกล่าว หมดความหมาย แม้จะรื้อฟื้นกลับคืนมาใหม่ก็ตาม ขณะที่อิสราเอลขู่ว่า จะโจมตีที่ตั้งนิวเคลียร์ในอิหร่าน ในที่สุดอิหร่านจึงยอมกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาครั้งนี้
◾◾◾
🔴 สหรัฐฯ ยืนยันเข้าร่วมการเจรจาด้วย
ล่าสุด 'อาลี บาเคอรี คานี' รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอิหร่าน และเป็นหัวหน้าคณะเจรจานิวเคลียร์ของอิหร่าน เปิดเผยว่า รัฐบาลอิหร่านตกลงจะฟื้นการหารือกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก ที่กรุงเวียนนา ในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ที่อิหร่านได้ทำไว้กับ 6 ประเทศมหาอำนาจตะวันตก หลังหารือทางโทรศัพท์กับเอนริก โมรา ทูตพิเศษของสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย
นายบาเคอรี ได้ทวีตข้อความว่า เราตกลงที่จะเริ่มการเจรจาโดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกการคว่ำบาตรที่ผิดกฎหมายและไร้มนุษยธรรม ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กรุงเวียนนา
การหารือเพื่อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 หยุดชะงักมานาน 5 เดือนแล้ว ตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันแล้วว่า จะเข้าร่วมการหารือที่กรุงเวียนนา พร้อมกับอีก 5 ประเทศมหาอำนาจ ที่ยังคงร่วมอยู่ในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 คือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และจีน โดย เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศหวังว่า การหารือที่จะมีขึ้น จะบรรลุผลโดยเร็ว
ด้านสหภาพยุโรป หรือ EU ในฐานะตัวกลางการเจรจา เปิดเผยว่า เอนริก โมรา ทูตพิเศษของ EU จะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการหารือในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ โดยโมรา ได้เป็นประธานการหารือ ที่มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน มาแล้ว 6 รอบตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่การหารือได้หยุดชะงักไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากอิหร่านมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี
◾◾◾
🔴 อิหร่านจะได้อะไร?
การรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 จะทำให้อิหร่านหลุดพ้นจากมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก แลกกับการที่อิหร่านจะต้องจำกัดการเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ รวมทั้งจำกัดปริมาณยูเรเนียมที่อิหร่านสามารถเก็บไว้ได้ และจะต้องยอมรับการตรวจสอบเรื่องนิวเคลียร์จากนานาชาติด้วย
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว BBC คาดว่า เอบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน ซึ่งมีแนวนโยบายสายแข็ง จะใช้วิธีที่แข็งกร้าวในการหารือที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ และดูเหมือนจะเริ่มทำเช่นนั้นแล้ว โดยอิหร่านได้ปฏิเสธไม่ยอมพบหน้าและเจรจาโดยตรงกับ โรเบิร์ต มอลลีย์ ทูตพิเศษของสหรัฐฯ แต่จะเจรจาผ่านตัวกลางคือ EU เท่านั้น