รีเซต

การส่งเสริมวัฒนธรรมยุคหลังโควิด-19 "New Normal : New Coolture"

การส่งเสริมวัฒนธรรมยุคหลังโควิด-19 "New Normal : New Coolture"
มติชน
19 ตุลาคม 2563 ( 04:54 )
303

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนในทุกมิติ การใช้ชีวิตภายใต้รูปแบบ New Normal ไม่เพียงแต่จะกระทบกับการดำเนินชีวิตของเราเท่านั้น แต่ยังทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด และการปฏิบัติตัวในเรื่องต่างๆ เมื่อไม่นานมานี้กองวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมภาพลักษณ์ วัฒนธรรมไทย และความนิยมไทยในต่างประเทศ จึงจัดงานเสวนาที่สอดรับกับยุคสมัย “New Normal : New Coolture” ขึ้น เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการนำเสนองานด้านวัฒนธรรมในมิติต่างๆ เพื่อระดมความคิดว่าเราควรปรับตัวและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะดำรงอยู่อย่างไรต่อไป

 

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม กล่าวว่า รากฐานที่มั่นคงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกิดจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในระดับที่ดีมากพอจนก่อให้เกิดความไว้วางใจในกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ก่อนยุคโควิด-19 การเรียนรู้กันและกันผ่านวัฒนธรรมอาจกระทำได้โดยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งบางแห่งอาจจัดนิทรรศการพิเศษในหัวข้อต่างๆ การระบาดของโรคโควิด-19 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ รวมถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบด้วยเช่นกัน โดยควรหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้งานวัฒนธรรมสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น ลดการเดินทาง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้น ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศปรับรูปแบบการจัดนิทรรศการสู่รูปแบบ virtual หรือออนไลน์ ถึงแม้ว่าผู้ชมจะไม่สามารถเสพชิ้นงานที่จัดแสดงได้ด้วยตาตนเอง แต่การเสพชิ้นงานแบบเสมือนจริง ทำให้สามารถเสพชิ้นงานได้ทุกมิติ นับเป็นก้าวใหม่ในการนำเสนองานศิลปะของพิพิธภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ

 

ด้าน นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ไทยแลนด์ เล่าว่า ก่อนยุคโควิด-19 วงการสื่อสิ่งพิมพ์เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดปรากฏการณ์ Digital Disruption สื่อสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัว โดยใช้ Digital Platform ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ควบคู่ไปกับการนำเสนอนิตยสารแบบรูปเล่ม ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารควบคู่ไปกับการจัดทำเนื้อหา เพื่อตอบสนองอุปสงค์และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

จากประสบการณ์การทำนิตยสารโว้ค คุณกุลวิทย์พบว่า โดยที่ทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก สิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปีนี้ อาจไม่ได้รับความนิยมในปีหน้า ดังนั้นการทำนิตยสารจึงไม่มีสูตรสำเร็จ และต้องคิดค้นการนำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อวงการแฟชั่นโลก กิจกรรมหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะการจัดงาน Fashion Week ในประเทศต่างๆ ถูกระงับ ด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าวงการแฟชั่นจะเป็นไปในทิศทางใด แต่พึงระลึกด้วยว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือสินค้า Luxury สามารถขับเคลื่อนประเทศหนึ่งได้ เช่น ฝรั่งเศส และเมื่อสินค้าแบรนด์เนมไม่สามารถนำเสนอสิ่งที่ต้องการได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงส่งผลต่อธุรกิจแฟชั่นอย่างมาก

 

นายยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และผู้บริหาร GDH เล่าว่า วงการภาพยนตร์เผชิญกับ Digital Disruption เช่นกัน การเติบโตของการให้บริการ streaming มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผู้ชมเข้าโรงภาพยนตร์น้อยลง และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ยอดผู้เข้าชมภาพยนตร์ในโรงลดน้อยลงไป ขณะเดียวกันบริการ streaming ต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่า อาจแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด กลับกลายเป็นช่องทางในการเผยแพร่ภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน

 

วงการภาพยนตร์ไทยยังมีโอกาสเติบโตในรูปแบบที่เปลี่ยนไป โดยอาจเน้นการสร้างภาพยนตร์ในรูปแบบและวิถีทางที่ถนัด สร้าง local content ที่น่าสนใจ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตามอย่างฝรั่ง อย่างไรก็ตาม หากเนื้อหามี “จุดร่วม” กับผู้ชมในประเทศต่างๆ จะเพิ่มโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ และสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างซีรีส์ฉายในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ ก็เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่เป็น “สากล” เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งตรงกับสถานการณ์หรือความรู้สึกของผู้ชมในประเทศต่างๆ

 

ขณะที่ นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสารออนไลน์ The Cloud บอกว่า สื่อออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่มีผลกระทบต่อสื่อออนไลน์ ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้สื่อออนไลน์ต้องปรับตัวอยู่เสมอคือสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และพฤติกรรมของผู้เสพสื่อในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้สังคมในยุคปัจจุบันเป็นสังคมแห่ง “การวิพากษ์วิจารณ์” ดังนั้น คนทำสื่อจึงต้องปรับตัวและพร้อมรับคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่าย ขณะเดียวกันเห็นว่าคำวิจารณ์มีผลให้คนทำสื่อต้องคิดมากขึ้น กลั่นกรองงานมากขึ้นด้วย นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้เสพสื่อที่ต้องการความรวดเร็ว มีผลทำให้การนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ต้องมีความน่าสนใจ สั้น กระชับ ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ผู้บริโภคจำต้องเลือกอยู่ในเคหสถานมากกว่าการดำเนินกิจกรรมนอกบ้าน ซึ่งทำให้การสื่อสารออนไลน์มีบทบาทในชีวิตมากขึ้น แต่เชื่อว่าผู้บริโภคยังสนใจเข้าร่วมกิจกรรมที่จับต้องได้ และสามารถมีส่วนร่วมได้จริงๆ เช่น การจัด workshop ปลูกต้นไม้โดยกิจกรรมที่ The Cloud จัดได้รับความสนใจอย่างมาก แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมในจำนวนที่ค่อนข้างสูง

 

ส่วนคำถามเกี่ยวกับทิศทางการเผยแพร่งานด้านวัฒนธรรมในอนาคตนั้น ศาสตราจารย์พิเศษธงทองกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคำจำกัดความของคำว่า “วัฒนธรรม” ว่าจะให้นิยามคำว่า “วัฒนธรรม” ตามกรอบจารีตเดิมหรือไม่ อย่างไร หากพิจารณาในกรอบความคิดเดิมจะพบความเชื่อมโยงระหว่าง “วัฒนธรรม” กับ  และ “โบราณ” และมักจะหมายถึงวัฒนธรรมของภาคกลาง และเป็นของชนชั้นเดียว ขณะที่หากนิยามคำว่า “วัฒนธรรม” อันหมายถึงวิถีชีวิต ซึ่งมีความหลากหลายของผู้คนต่างวิถีชีวิต และความเป็นพหุวัฒนธรรม ผนวกกับบริบทของความต้องการที่จะให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทย คำว่า “วัฒนธรรม” จึงไม่หมายถึงเฉพาะโขน แต่รวมไปถึงภาพยนตร์อย่างเรื่อง “สตรีเหล็ก” และสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร Vogue ที่ไม่แข็งกระด้าง หากแต่เป็นนิตยสาร Vogue ปรับเปลี่ยนและใส่ความเป็นไทยที่ทันสมัยได้ ทั้งนี้หากตีความคำว่า “วัฒนธรรม” หมายถึง วิถีชีวิต น่าจะมีช่องทางและรูปแบบในการเผยแพร่วัฒนธรรมได้มากขึ้น ขณะที่วิธีการเผยแพร่วัฒนธรรมควรใช้สื่อผสมหลากหลายรูปแบบ ในช่องทางที่หลากหลาย และทำอย่างแนบเนียน เป็นธรรมชาติ รวมทั้งควรร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน

 

นายกุลวิทย์บอกว่าแนวคิดนิตยสารโว้ก ประเทศไทย ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องออกมาในรูปแบบใด นิตยสารโว้กพยายามสอดแทรกและนำเสนอความเป็นไทยในบริบทของแฟชั่นที่ทันสมัยลงในนิตยสาร ดังจะเห็นได้จากปกนิตยสารโดยเฉพาะฉบับครบรอบ เช่น การใช้เสื้อผ้าของนักออกแบบแฟชั่นชาวไทย หรือการถ่ายทำในสถานที่ หรือใช้สิ่งของต่างๆ ที่สื่อสารความเป็นไทย แต่มีความทันสมัย นิตยสารโว้ก ประเทศไทย ไม่จำกัดการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่านนิตยสาร หากแต่ยังสนับสนุนผ้าไหมไทยให้ก้าวสู่สากล โดยการประมูลผลงานที่โว้กร่วมมือกับดีไซเนอร์ระดับโลกสร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้ผ้าไหมไทยในงาน VOGUE GALA ที่จัดขึ้นทุกปี เช่น ชุดกระโปรงผ้าไหมมัดหมี่ โดย Diane von Furstenberg, รองเท้าส้นสูงหัวแหลมผ้าไหมมัดหมี่ โดย Christian Louboutin, กระเป๋าผ้าไหม โดย Jimmy Choo กระเป๋าสะพายผ้าไหม โดย Roger Vivier ควบคู่ไปกับการเล่าเรื่องเบื้องหลังเกี่ยวกับผ้าไทย การทำงานของชาวบ้านและชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และใช้แฟชั่นเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทย

 

ขณะที่นายยงยุทธเห็นว่า การเผยแพร่วัฒนธรรมไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะการนำความเป็นไทยออกไปเผยแพร่ในต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆ เช่น การจัดเทศกาลหนังสั้น หรือจัดการประกวดภาพยนตร์ ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ขณะที่การบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานจะช่วยให้งานเผยแพร่วัฒนธรรมประสบผลสำเร็จในวงกว้างมากขึ้น

 

นายทรงกลดมองว่า ความท้าทายของสื่อและการสื่อสารด้านวัฒนธรรม คือการหาจุดสมดุลย์ระหว่างสิ่งที่ต้องการเล่ากับสิ่งที่คนอยากฟัง สิ่งสำคัญที่สุดในการสื่อสารเรื่องวัฒนธรรม คือการหาความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ต้องการสื่อสารกับผู้รับสาร ซึ่งจะทำให้เรื่องราวมีความน่าสนใจมากขึ้น ตัวอย่างการเล่าเรื่องของ The Cloud ที่ได้รับการตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จ คือการเล่าเรื่องเกี่ยวกับโมซัมบิก โดยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของปลานิลไปสู่ถิ่นกำเนิดที่แม่น้ำไนล์ และการสอนชาวแอฟริกันทานปลานิลในรูปแบบของคนไทย ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องราวของคนสองชาติที่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันเป็นเรื่องราวที่สร้างความสบายใจ มีความหวัง และมีความสนุกสนาน

 

ถึงจะไม่รู้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับพวกเราไปอีกนานเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายทอดวัฒนธรรมและความเป็นไทยออกไปสู่โลก ตราบเท่าที่เราปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงทุกด้านในชีวิต ไม่ว่ามันจะมาจากโรคภัย ยุคสมัย หรือเทคโนโลยีก็ตาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง