ถึงยุค ”เช็คอิน-เช็คเอาต์” ผ่านแอพพ์ถ้าจะเข้าห้าง-ใช้บริการต่าง ๆ เคาะเลื่อนเคอร์ฟิววันนี้
ผวาโควิดบุกซ้ำ ผุดแอพพ์”ไทยชนะ” ให้เช็คอิน-เอาต์ สถานที่ต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) แถลงความคืบหน้าการเตรียมพร้อมสำหรับผู้ประกอบการในการคลายล็อกระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ว่า การประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้แจ้งว่า แอพพลิเคชั่น
ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้สำหรับช่วยติดตามตัวเสร็จแล้ว โดยใช้วิธีการเช็กอินแทน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้ให้ชื่อแอพพลิเคชั่นนี้ว่า “ไทยชนะ” เพื่อให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า หรือร้านตัดผม เป็นต้น ลงทะเบียนเพื่อรับคิวอาร์โค้ดมาช่วยตั้งไว้หน้าทางเข้าออก จากเดิมที่ต้องลงทะเทียบด้วยลงมือชื่อ โดยใช้โทรศัพท์มือถือมาให้ผู้ใช้บริการเช็กอินเข้าและออก และยังตรวจสอบความหนาแน่น หรือจองคิวรับบริการได้
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า แอพพ์ไทยชนะ จึงเป็นมาตรการรองรับการคลายล็อกในระยะที่ 2 หากบริการต่างๆ เปิดให้บริการมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถให้เรตติ้งหรือคะแนนพึงพอใจในการให้บริการต่างๆ อย่างร้านตัดผม เพื่อเป็นการดึงลูกค้า และในอนาคตอาจจะมีแต้ม สะสมแต้ม ส่วนลดเกิดขึ้น ในฐานะคนใช้งานก็อาจได้ประโยชน์ด้วย ในขณะที่เจ้าของกิจการก็ต้องทำให้ดี เพราะว่า ทำดีแล้วมีเรตติ้งเพิ่มขึ้นก็จะดึงลูกค้ามากขึ้น
ตั้งจุดเช็กอินสแกนคนเข้า-ออก
“ไม่ต้องกังวลความเป็นส่วนตัว เพราะเราไม่ต้องการอะไรมากมายไปกว่าเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น สแกนเข้ามาก็รู้ว่า ท่านได้มาเช็กอินผ่านหมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น หลายคนถามว่า หากไม่มีโทรศัพท์ ลูกเล็กๆ หากต้องพาไปนอกบ้านหรือคนสูงอายุใช้ไม่เป็น ก็แนะนำไว้ก่อนเลยว่า อาจจะมี 2 ระบบ คือลงรายมือชื่อควบคู่กันไป แม้อาจจะตอบโจทย์ได้ 70-80% อีก 10-20% ตกบกพร่องไปก็ต้องอภัยไว้ตั้งแต่ล่วงหน้า แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
‘โสม’ขอผ่อนปรนให้นักธุรกิจ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายนายอี อุก-ฮ็อน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย ว่าทางเกาหลีใต้ได้หารือถึงแนวทางการผ่อนปรนให้นักธุรกิจและภาคเอกชนของเกาหลีใต้เดินทางมาเจรจาธุรกิจในไทยได้ ซึ่งจะต้องมีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศถึงความเป็นได้ในการเดินทางเข้ามา รวมทั้งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสาธารณสุข และ ศบค.จะเป็นผู้พิจารณา
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า เกาหลีใต้ได้ขอให้ไทยผ่อนปรนการเดินทางให้กับนักธุรกิจและภาคเอกชนเข้าประเทศ เหมือนกับที่เกาหลีใต้ผ่อนปรนให้จีน ฮังการีและเวียดนาม โดยมีการตรวจร่างกาย กักตัวตรวจดูอาการถึง 2 ครั้ง ก่อนที่จะให้เดินทาง ซึ่งการกักอาจไม่ถึง 14 วัน อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ในไทยและเกาหลีใต้เริ่มที่จะผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังขอให้ไทยปลดรายชื่อประเทศเกาหลีใต้ออกจากประเทศเขตโรคติดต่ออันตราย
“ยังมีชาติอื่นๆ ที่สนใจและติดต่อขอให้ไทยผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศ เช่น ฮ่องกง ที่มีความเป็นไปได้เพราะควบคุมสถานการณ์โควิดได้บ้างแล้ว เช่นเดียวกับประเทศที่บริหารจัดการโควิด-19 ได้ดี จนมีหลายประเทศติดต่อเข้ามา ส่วนธุรกิจภาคท่องเที่ยวยังไม่สามารถที่จะเปิดได้” นายกอบศักดิ์กล่าว
00‘วิษณุ’ชี้เคอร์ฟิว-รอเคาะหลายสูตร
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือกับ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า คำถามที่สื่อมวลชนให้ความสนใจเรื่องการขยับเวลาประกาศเคอร์ฟิวจากเวลา 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.00 น.นั้น จะเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 15 พฤษภาคม จึงตอบอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา หากพูดไปแล้วเปลี่ยนแปลงอีกก็คงไม่ดี แต่วันที่ 15 พฤษภาคม จะมีความชัดเจนแน่นอน เพราะมีการเสนอหลายสูตรให้ ศบค.พิจารณา เช่น ถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะเกิดผลแบบนี้ แล้วถ้าอย่างนั้นจะเป็นผลอย่างไร
เมื่อถามถึงข้อกำหนดที่จะผ่อนปรนให้เปิดห้างสรรพสินค้า นายวิษณุกล่าวว่า ให้รอความชัดเจนวันที่ 15 พฤษภาคม ยืนยันว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจที่มีเลขาฯ สมช.เป็นประธาน ได้นำข้อมูลเรื่องการฝ่าฝืนเคอร์ฟิวอย่างละเอียดมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณา โดยดูเป็นรายจังหวัด เพื่อนำมาเป็นบทสรุปบางอย่าง แต่ไม่ขอตอบ
สมช.แย้มเปิดห้าง-เว้นโรงหนัง
ขณะที่ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ทิศทางการคลายล็อกเป็นไปตามที่สื่อมวลชนนำเสนอไปบ้างแล้ว โดยการเปิดห้างสรรพสินค้านั้นอาจมีการปิดบางแผนก แต่ส่วนใหญ่จะเปิดหมดเกือบทุกกิจการภายในห้าง เว้นแต่กิจกรรมที่มีความเสี่ยง อย่างโรงภาพยนตร์ คาราโอเกะ ตู้เกม โรงเรียนกวดวิชา ที่ต้องสั่งห้ามเปิดไปก่อน และทางห้างต้องปิดภายในเวลา 21.00 น.
พล.อ.สมศักดิ์กล่าวถึงข้อเสนอขยายเวลาเคอร์ฟิวว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการร้องขอของผู้ประกอบการ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ศบค. โดยวันที่ 15 พฤษภาคม นายกฯจะพิจารณาอีกครั้งในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดยการปรับเวลาเคอร์ฟิวจะปรับตามกิจกรรมหรือกิจการที่คลายล็อกออกมาเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ ถือว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเลื่อนเวลาเคอร์ฟิวจาก 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 23.00-04.00 น.