รีเซต

สกู๊ป น.1 : ถ้ำหลวง-เขาสก มรดกแห่งอาเซียน

สกู๊ป น.1 : ถ้ำหลวง-เขาสก มรดกแห่งอาเซียน
มติชน
5 กรกฎาคม 2563 ( 08:17 )
87
สกู๊ป น.1 : ถ้ำหลวง-เขาสก มรดกแห่งอาเซียน

 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park : AHP) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอซึ่งมีรายละเอียด

 

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ซึ่งมีกลุ่มเยาวชน 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย เข้าไปติดภายในถ้ำหลวงทำให้ชื่อของอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

 

อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2529 โดยกรมป่าไม้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาขนาดใหญ่หลายลูกติดต่อกัน มีความสูงโดยเฉลี่ย 779 เมตร และลาดชันมาทางทิศตะวันออก มีความยาวถ้ำประมาณ 10.3 กม. ซึ่งความยาวถ้ำเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับดอยจ้องและห้วยน้ำจองทางทิศเหนือ ติดต่อกับดอยผู้เฒ่าและห้วยน้ำค้างทางทิศใต้ ติดต่อกับภูเขาลูกใหญ่ซึ่งทอดมาจากประเทศเมียนมา

 

กวี ประสมพล หัวหน้าอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กล่าวว่า ปัจจุบันทางอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กำลังอยู่ระหว่างรอการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้เป็นเพียงวนอุทยาน แต่ก็ได้รับเลือกจากทางกระทรวงเสนอชื่อให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งการที่ถูกรับเลือกนอกจากจะมาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ปฏิบัติช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแล้ว ยังจัดได้ว่าเป็นอุทยานที่มีความหลากหลาย ทั้งทางด้สานระบบนิเวศสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ความสมบูรณ์ของถ้ำหินปูนหินงอกหินย้อยและความหลากธรณีวิทยา

 

ขณะเดียวกัน ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเนื่องจากพื้นที่โดยรอบ มีประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัยอยู่กว่า 10 ชนเผ่า จึงหลากขนบธรรมประเพณี อีกทั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์หลากหลายชนิด มีปูดอกข้อแดง เป็นสัตว์พื้นถิ่นที่เชื่อกันว่ามีเพียงแห่งเดียวในโลก สิ่งเหล่านี้จึงทำให้อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนอยู่ในเกณฑ์ครบทั้ง 10 ด้านคุณสมบัติของกระทรวงที่จะเสนอให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน

 

เชื่อว่ายิ่งหลังการเสนอให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน หากได้รับการรับเลือกจากคณะกรรมการอาเซียนจะทำให้ถ้ำหลวงมีชื่อเสียงขึ้นไปอีก จะเป็นแหล่งศึกษา แหล่งสำรวจจากหลากหลายองค์กร จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนอย่างไม่ขาด โดยช่วงนับตั้งแต่เหตุการณ์ติดถ้ำหลวงก็มีนักท่องเที่ยวมาเยือนวันละไม่ต่ำกว่าวันละ 4,000-5,000 คน ยิ่งช่วงในช่วงวันหยุดสำคัญเช่นช่วงสิ้นปีหรือเทศกาลสงกรานต์มีคนมาเยือนมากว่าวันละ 1 หมื่นคน

 

ขณะที่ “ขุนเขาแห่งป่าฝน” ฉายาเรียกอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี ที่เป็นศูนย์กลางผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดและสำคัญของภาคใต้ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาสก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง มีพื้นที่รวมกันถึง 2,296,879 ไร่

 

นายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก บอกว่า ในผืนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสกมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอุดมไปด้วยพืชพรรณหลากหลายชนิด ทั้งพืชพรรณที่หายากและเป็นพืชเฉพาะถิ่นเช่น “ดอกบัวผุด” ดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปาล์มเจ้าเมืองถลางหรือปาล์มหลังขาวและปาล์มพระราหู นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ประกอบกับสภาพพื้นที่มีทิวทัศน์ ที่สวยงาม มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติทั้งน้ำตก หน้าผา ถ้ำ และทิวทัศน์เทือกเขาหินปูนตระหง่านเหนือผิวน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ที่ได้รับฉายาว่า “กุ้ยหลินเมืองไทย”

 

ขณะที่ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ถือเป็นความเป็นความภูมิใจของชาวสุราษฎร์ธานีที่จะมีอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นอย่างดี อุทยานแห่งชาติเขาสก ถือเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัด แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศสมบูรณ์ที่ชาวต่างประเทศชอบเดินศึกษาป่าธรรมชาติมาก และมีแพที่พักกลางน้ำในเขื่อนรัชชประภา ที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ปัจจุบันนอกจากมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเป็นกลุ่มหลักแล้ว ระยะหลังมีนักท่องเที่ยวชาวจีนและเอเชียเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้นเมื่อเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจะส่งผลดีต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีแน่นอน”

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนไปแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกาศเมื่อ พ.ศ.2527, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกาศเมื่อ พ.ศ.2527, กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2546, กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2546, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2562, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2562

 

หากปีนี้อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนและอุทยานเขาสกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนอีกก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง