รีเซต

นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยน “ก๊าซจากหลุมฝังกลบ” เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ยั่งยืน

นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยน “ก๊าซจากหลุมฝังกลบ” เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ยั่งยืน
TNN ช่อง16
6 พฤษภาคม 2567 ( 10:20 )
28

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย พัฒนากระบวนการทางเคมีแบบใหม่ ที่สามารถผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) จากก๊าซที่ปล่อยออกมาจากหลุมฝังกลบขยะ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้สู่ชั้นบรรยากาศโลกแล้ว ยังเป็นการเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนให้ได้มากขึ้นอีกด้วย 


ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) กล่าวว่าพวกเขาใช้เทคโนโลยีพลาสมาที่ไม่ใช้ความร้อน (non-thermal plasma) ซึ่งจะยิงอิเล็กตรอนพลังงานสูงภายใต้สภาวะบรรยากาศปกติ เข้าไปในก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาจากหลุมฝังกลบขยะ ด้วยเทคโนโลยีนี้ จะทำให้เกิดกระบวนการแยกและเชื่อมต่อขึ้น โดยที่คาร์บอนและไฮโดรเจน จะยึดเหนี่ยวกันเพื่อสร้างเป็น ไฮโดรคาร์บอนสายยาว (long chain hydrocarbons) ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเชื้อเพลิงที่ยังไม่ผ่านการกลั่น ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนได้ 


ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ พี.เจ. คัลเลน (Professor P.J. Cullen) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ปัจจุบันนี้ หลายอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่ในอุตสาหกรรมขนส่งขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมการบิน การจะใช้งานพลังงานไฟฟ้า หรือการใช้แบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน ก็ยังมีข้อจำกัด และในขณะเดียวกันเอง อุตสาหกรรมการบิน ก็มีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2-3 


ดังนั้นการหันมาใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF - Sustainable Aviation Fuel) จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ทว่าเชื้อเพลิงนี้ ก็ยังมีราคาแพง โดยมีราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ตแบบดั้งเดิมถึง 3-5 เท่า


การผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนจากก๊าซที่ปล่อยออกมาจากหลุมฝังกลบนี้ จึงอาจจะช่วยทำให้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน มีราคาที่ถูกลง เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของอุตสาหกรรมการบิน ที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 รวมถึงยังเป็นการช่วยลดก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอันนำไปสู่ภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย


ข้อมูลจาก reutersconnect

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง