ค้นพบ “ดาวพฤหัสบดี” เคยมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันถึงสองเท่าจุโลกได้กว่า 2,000 ดวง

ผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Astronomy เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ระบุว่า ดาวพฤหัสบดีในช่วงแรกของการก่อตัวเคยมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันถึงสองเท่า และมีสนามแม่เหล็กที่รุนแรงกว่าปัจจุบันถึง 50 เท่า ซึ่งเพียงพอที่จะจุโลกได้มากกว่า 2,000 ดวง เทียบกับขนาดในปัจจุบันที่สามารถจุโลกได้ประมาณ 1,321 ดวง
การศึกษานี้นำโดยศาสตราจารย์คอนสแตนติน บาติกิน (Konstantin Batygin) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย โดยมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจช่วงเริ่มต้นของระบบสุริยะ และหลีกเลี่ยงการใช้สมมติฐานทั่วไปในแบบจำลองการก่อตัวของดาวเคราะห์
โดยแทนที่จะพึ่งพาข้อมูลจากแบบจำลองเดิม ทีมวิจัยหันไปศึกษาดวงจันทร์ขนาดเล็กสองดวงของดาวพฤหัสบดี คือ แอมัลเธีย (Amalthea) และธีบส์ (Thebe) ซึ่งโคจรใกล้กับดาวพฤหัสบดีในเส้นทางที่มีความเอียงเพียงเล็กน้อย เชื่อกันว่าเส้นทางโคจรเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ยุคแรกของระบบสุริยะ
การวิเคราะห์วงโคจรเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถย้อนกลับไปประเมินขนาดและความแรงของสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดีในอดีตได้ พบว่าเมื่อประมาณ 3.8 ล้านปีก่อน หลังจากการก่อตัวของวัตถุแข็งชิ้นแรกในระบบสุริยะ ดาวพฤหัสบดีมีรัศมีเกือบสองเท่าของขนาดปัจจุบัน หรือ 139,822 กิโลเมตร โดยขนาดปัจจุบันดาวพฤหัสบดีรัศมีอยู่ที่ 69,911 กิโลเมตร
แม้งานวิจัยนี้จะไม่ได้เจาะลึกถึงผลกระทบของดาวพฤหัสบดีขนาดมหึมาต่อระบบสุริยะยุคแรกโดยตรง แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นของดาวเคราะห์มีบทบาทสำคัญต่อการจัดโครงสร้างของระบบสุริยะในเวลาต่อมา
บาติกินสรุปว่า การค้นพบนี้คือ “มาตรฐานอันมีค่า” ที่สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างแบบจำลองวิวัฒนาการของระบบสุริยะอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กลุ่มก๊าซและฝุ่นจากการก่อตัวของดวงอาทิตย์เริ่มจางหายไป และระบบสุริยะเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานที่เรารู้จักในปัจจุบัน