ส.อ.ท. หวังยอดผลิตรถยนต์กระเตื้อง หลัง 5 เดือนแรกมูลค่าส่งออกหายวับแสนล้าน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หวังยอดผลิตรถยนต์กระเตื้อง ลุ้นช่วงที่เหลือของปีนี้ผลิตได้เดือนละ 1 แสนคัน หลัง 5 เดือนมูลค่าส่งออกหายวับแสนล้าน
ส.อ.ท.หวังยอดผลิตกระเตื้อง - นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์เดือนพ.ค. 2563 มีทั้งสิ้น 56,035 คัน ลดลง 69.1% จากเดือนพ.ค. 2562 ซึ่งมองว่าการผลิตรถยนต์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะเพิ่มขึ้นถึง 126.76% เทียบกับเดือนเม.ย. 2563 ที่ผ่านมาที่ผลิตได้ 24,711 คัน ต่ำสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำการและโรงงานเริ่มเปิดสายการผลิตรถยนต์ได้
ทั้งนี้ หากในช่วงที่เหลือของปีนี้ไทยผลิตรถยนต์เฉลี่ยเดือนละ 60,000-70,000 คันต่อเนื่อง 7 เดือนรวมผลิตได้ประมาณ 420,000 คัน รวมกับ 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 2563) ผลิตได้ทั้งสิ้น 534,428 คัน จะทำให้ยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ทั้งปีอยู่ที่ 900,000 กว่าคัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ 1 ล้านคัน
“แต่หากในช่วงที่เหลือ 7 เดือนของปีนี้ไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้เดือนละ 100,000 คัน (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ผลิตได้เฉลี่ยเดือนละ 160,000 คัน) คิดเป็นจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ประมาณ 700,000 คัน รวมกับ 5 เดือนที่ผ่านมา จะส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ทั้งปีผลิตได้ 1.2 ล้านคัน และกรณีที่ดีที่สุดไทยสามารถผลิตรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้เดือนละมากกว่า 140,000 คัน 7 เดือนผลิตได้ประมาณ 980,000 คัน รวมกับ 5 เดือนที่ผ่านมา จะทำให้ทั้งปีผลิตได้กว่า 1.4 ล้านคัน แต่ก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยากที่สุด”นายสุรพงษ์ กล่าว
ดังนั้น ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่มีผลต่อการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก เห็นได้จากเดือนพ.ค. ยอดผลิตเพื่อส่งออกอยู่ที่ 35,965 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 61.93% สอดคล้องกับยอดส่งออกเดือนพ.ค. อยู่ที่ 29,894 คัน ลดลง 68.64% แต่รถยนต์บางรุ่นสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น 63-70% ทำให้ภาพรวมยอดผลิตเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่ยอดส่งออกสะสม 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2563) อยู่ที่ 300,501 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35% มีมูลค่า 158,740.70 ล้านบาท ลดลง 32.12% จากปีก่อนมีมูลค่า 233,850 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 75,110 ล้านบาท และหากรวมการส่งออกกลุ่มรถยนต์ (รวมเครื่องยนต์ อะไหล่ ชิ้นส่วน) และรถจักรยานยนต์ 5 เดือนปีนี้มีมูลค่า 263,868 ล้านบาท ลดลง 28.37% จากปีก่อนอยู่ที่ 368,399 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าหายไป 104,521 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ยอดติดเชื้อยังสูงซึ่งหากส่งออกเฉพาะรถยนต์สำเร็จรูปของไทยปี 2563 หายไปประมาณ 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียอดส่งออกรถยนต์ประมาณ 545,967.56 ล้านบาท อาจทำให้มูลค่าการส่งออกหายไปเกือบ 300,000 ล้านบาทได้เช่นกัน ซึ่งทางส.อ.ท. มีความกังวลเรื่องการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่ต้องติดตามใกล้ชิด
ในส่วนของยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศผลิตได้ 20,070 คัน ลดลง 76.89% เนื่องจากยังมีรถยนต์อยู่ในสต๊อกของโชว์รูมค่อนข้างมาก สอดคล้องกับยอดขายในประเทศอยู่ที่ 40,418 คัน ลดลง 54.12% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา 34.24% หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และมีมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลมาเยียวยา โดยเบื้องต้นคาดการณ์ยอดขายในประเทศปีนี้จะอยู่ระหว่าง 500,000-700,000 คัน ขึ้นอยู่กับโควิด-19 ว่าจะคลี่คลายได้เร็วแค่ไหน จากปัจจุบันยอดขายในประเทศสะสม 5 เดือนอยู่ที่ 270,591 คัน
โดยยอมรับลูกค้ายังมีความกังวลเรื่องรายได้ในอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน ประกอบกับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวด ทำให้คนไม่เข้าโชว์รูม ส่งผลให้ยอดขายในโชว์รูมลดลง ดังนั้นหากเงินช่วยเหลือของภาครัฐถึงมือประชาชนเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้โดยเร็ว
ส่วนกรณีการเลิกจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น ยอมรับว่ามีการเลิกจ้างจริง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในบริษัทที่รับจ้างผลิตชิ้นส่วน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 20-30% ของแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ที่มีประมาณ 700,000 คน ส.อ.ท. จึงไม่มีตัวเลขการเลิกจ้างในส่วนนั้นที่ชัดเจน และส่วนมากบริษัทที่รับจ้างผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากยอดผลิตรถยนต์ที่ลดลงเพราะโควิด-19 ก็ได้ปรับตัวเปลี่ยนสายการผลิตไปรองรับอุตสาหกรรมอื่นที่เป็นความต้องการของตลาดมากขึ้นแทน เช่น อาหาร เป็นต้น และเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติบริษัทเหล่านั้นก็กลับมาผลิตชิ้นส่วนป้อนให้อุตสาหกรรมรถยนต์ได้ตามเดิม ส่วนพนักงานประจำของค่ายรถยนต์อาจมีการลาออกโดยสมัครใจบ้างขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท และยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนเช่นกัน