จีนปลูก 'หญ้าสันตะวาใบข้าว' เลี้ยงนกอพยพหลบหนาวที่ทะเลสาบโผหยาง
หนานชาง, 14 มี.ค. (ซินหัว) -- สำนักบริหารเขตอนุรักษ์ธรรมชาตินกอพยพอำเภอตูชาง มณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน เปิดเผยการเพาะปลูกหญ้าสันตะวาใบข้าว (Tape grass) เรียงรายเป็นทิวแถวบริเวณทะเลสาบโผหยาง ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของจีน เนื่องจากหญ้าดังกล่าวเป็นอาหารสำคัญสำหรับบรรดาฝูงนกอพยพที่บินมาใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวที่ทะเลสาบแห่งนี้
สำนักฯ ระบุว่ามีการเพาะปลูกต้นกล้าหญ้าสันตะวาใบข้าวราว 900,000 ต้น มูลค่ารวมกว่า 200,000 หยวน (ราว 1 ล้านบาท) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6.67 เฮกตาร์ (ราว 41 ไร่) และจะดำเนินการตัดสินใจขยายพื้นที่เพาะปลูกหลังพิจารณาจากอัตราการรอดตายของพืชผลในปีนี้กั๋วฮวา เจ้าหน้าที่สำนักฯ เผยว่าพืชที่จมอยู่ใต้น้ำ เช่น หญ้าสันตะวาใบข้าว ในบางพื้นที่ของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลสาบโผหยางนั้นเผชิญความเสื่อมเสียอย่างรุนแรง เนื่องมาจากผลกระทบของภัยแล้งเมื่อปีที่แล้ว โดยทะเลสาบแห่งนี้เข้าสู่ฤดูแล้งประจำปีก่อนในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเร็วกว่าช่วงเวลาเฉลี่ยปกติประมาณ 3 เดือน นับตั้งแต่ปี 1951กั๋วกล่าวว่าพวกเราจึงทำการสำรวจวิธีการปลูกหญ้าสันตะวาใบข้าวด้วยตนเอง เพื่อเก็บเป็นอาหารสำหรับฝูงนกอพยพที่เข้ามาอาศัยที่ทะเลสาบช่วงฤดูหนาวในช่วงครึ่งหลังของปี พร้อมเสริมว่าหญ้าสันตะวาใบข้าวจะเริ่มขยายพันธุ์เมื่อฤดูฝนมาถึง ในเดือนมิถุนายนทั้งนี้ ทะเลสาบโผหยางมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งอาศัยช่วงฤดูหนาวที่สำคัญของนกน้ำในเอเชีย โดยช่วงเวลาอพยพสูงสุดของฝูงนกจะเริ่มขึ้นในกลางเดือนธันวาคมและดำเนินต่อไปจนถึงต้นเดือนมกราคมฝูงนกอพยพหลายแสนตัวโผบินมายังทะเลสาบแห่งนี้ช่วงฤดูหนาวของทุกปี ซึ่งรวมถึงนกกระเรียนขาวร้อยละ 98 นกกระสาขาวตะวันออกกว่าร้อยละ 80 และนกกระเรียนคอขาวกว่าร้อยละ 70 ของประชากรนกสายพันธุ์นั้นๆ ทั่วโลก