รีเซต

ประสบการณ์ฟันฝ่าอคติเรื่องสีผิว-เชื้อชาติของซูซี่ ณัฐวดี ลูกครึ่งไทย-มาลี ขวัญใจชาว Tiktok

ประสบการณ์ฟันฝ่าอคติเรื่องสีผิว-เชื้อชาติของซูซี่ ณัฐวดี ลูกครึ่งไทย-มาลี ขวัญใจชาว Tiktok
บีบีซี ไทย
6 มิถุนายน 2563 ( 15:26 )
346

 

"สมัยเด็กแต่งหน้าเต้น คนอื่นได้แต่งหน้ากรีดอายไลน์เนอร์ แต่หนูไม่ได้กรีด ช่างแต่งหน้าบอกว่าครูบอกว่าไม่ต้องกรีดอายไลน์เนอร์ให้ กรีดไปก็ไม่เห็นหรอก หนูก็เลยเป็นคนเดียวที่แต่งหน้าเหมือน (อันนี้จะเป็นแต่งหน้าไม่เหมือนชาวบ้านไหมนะเพราะอดกรีดต๊า) ชาวบ้านชาวช่องเขา" นี่คือประสบการณ์ที่เกิดกับ "ซูซี่" ณัฐวดี ไวกาโล เด็กหญิงลูกครึ่งที่มีแม่เป็นคนไทยและพ่อเป็นชาวแอฟริกันจากประเทศมาลี และเธอยังไม่ลืม

 

"หนูดำเท่าอายไลน์เนอร์เลยเหรอถามจริง ...แรง" ซูซี่ เล่าในเชิงตลกร้าย

 

เด็กหญิงซูซี่ในตอนนั้นยังเด็กเกินไปและไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ไปจนถึงการถูกครูและเพื่อน ๆ ในโรงเรียนล้อเลียนเพราะสีผิวกับผมที่หยิกดำของเธอนั้นคืออะไร จึงได้แต่ตั้งคำถามกับแม่ว่า "แม่ทำไมล่ะ ก็แค่นี้ผิวสีนี้ มันขนาดนั้นเลยหรือ"

 

วันนั้น-- แม่ไม่มีคำตอบให้ แต่เมื่อเติบโตมาเรื่อย ๆ เธอได้รู้และชินไปเองว่า "การมีผิวสีนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่น่ายอมรับในสังคมไทยนี่เอง"

 

หลังจากเป็นที่รู้จักจากการคัฟเวอร์คลิปลิปซิงค์เสียง "ส้มหยุด" ในแอปพลิเคชันติ๊กต่อก (TikTok) ซูซี่ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ลูกครึ่งอย่างเธอซึ่งเติบโตในไทยต้องเผชิญ ท่ามกลางกระแส BlackLivesMatter ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

 

วันนี้-- ซูซี่ ในวัย 25 ปี ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นเหมือนเรื่องๆ หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต เธอบอกว่าการบูลลี่ (Bullying) หรือการกลั่นแกล้ง และการเลือกปฏิบัติเพราะเรื่องสีผิวที่เธอเจอมา ดูเหมือนจะไม่หนักเท่าในอดีต และ "แฮปปี้" เมื่อเห็นการเริ่มเปิดกว้างยอมรับของผู้คนในโลกโซเชียลที่ไม่มีใครนำเรื่องสีผิวเชื้อชาติมาทำให้เกิดความรู้สึกอย่างอื่น จากการตอบรับที่ดีนี่เอง เธอหวังว่าจะทำให้หลายคนเข้าใจกลุ่มเด็กลูกครึ่งผิวดำอย่างเธอมากขึ้น

 

"มันดีต่อเด็กลูกครึ่งรุ่นหลังที่เขาอยากจะเป็นอะไรในโลกใบนี้ และคนก็เริ่มอ้าแขนตอบรับเขา" เธอกล่าว และเสริมว่า อยากให้เด็กลูกครึ่งที่มีความสามารถออกมาโชว์ศักยภาพของตัวเอง เพื่อลบล้างอคติที่ยังพอมีให้เห็นอยู่

 

ซูซี่ เกิดและโตที่กรุงเทพมหานคร วัยเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เองเป็นสังคมแรก ที่เธอเผชิญกับการถูกกลั่นแกล้ง

 

คำพูดที่ยกเอาเรื่องรูปลักษณ์ สีผิว มาล้อเลียนนั้น มาจากทั้งเพื่อนนักเรียนและครูบางคนที่ขาดความเข้าใจในเรื่องการเคารพความแตกต่าง ทั้งการตั้งฉายา การทำให้รู้สึกอายในชั้นเรียน ทว่าการถูกล้อเลียนจากเพื่อนทำให้เด็กหญิงเลือกวิธีที่จะอยู่กับเรื่องนี้ด้วยการไม่เงียบ

 

"ล้อนี่คือเบสิก ทุกคนจะต้องก็เจอ อีดำ อีหยิก อะไรสารพัด มีรังแกแต่ไม่มาก เพราะสู้คนอยู่แล้ว ส่วนมากจะโดนด้วยคำพูด เชื่อไหมว่าคำพูดมันทำให้เราเจ็บหัวใจมากกว่าโดนชกอีกนะ"

 

เมื่อต้องเข้าสู่วัยทำงานก็เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับผู้หญิงลูกครึ่งแอฟริกันเช่นกัน ความแตกต่างของเธอทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เธออาจจะไม่ได้งานนั้นเพราะการเป็นลูกครึ่งผิวดำหรือเปล่า

 

ประสบการณ์เลวร้ายครั้งหนึ่งที่ยังติดค้างอยู่ในใจคือการถูกไล่ออกจากการทำงานที่ร้านอาหารโดยไม่ได้รับแจ้งเหตุผลอะไร แต่เธอรู้จากเพื่อนร่วมงานในภายหลังว่า เป็นเพราะทางร้านมีความคิดว่าตัวตนของซูซี่ส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของร้าน

 

"เราโกหกแม่ไปว่าทำไม่ไหว แต่ตอนนั้นยังไม่รู้เหตุผลว่าทำไมโดนไล่ออก จนเพื่อนร่วมงานบอกว่าที่เขาไล่ออกเพราะว่า ดำ สกปรก ทำให้ภาพลักษณ์ร้านอาหารดูไม่ดี"

 

การรู้จักเคารพความแตกต่างหลากหลาย เริ่มจากครอบครัว

จากการเติบโตมาในเมืองไทย ซูซี่มองว่า ความไม่เข้าใจที่นำไปสู่การปฏิบัติต่อคนผิวสี คนผิวดำ อย่างไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกัน เป็นผลจากหลาย ๆ ปัจจัย สื่อเองก็มีส่วนในการกล่อมเกลาให้เกิดทัศนะเช่นนั้น เช่นการโฆษณาที่นำเอาผิวสีมาทำเป็นเรื่องตลก หรือดูโทรทัศน์ก็มีแต่ดาราผิวขาว

 

"เราเป็นคนอารมณ์ดี เราชอบเอ็นเตอร์เทนเพื่อน แต่เราไม่ใช่ตัวตลก แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่สังคมไทย สื่อไทย ทำให้คนผิวสีดูเป็นคนตลก คนไทยก็เลยมองและเข้าใจว่าคนผิวสีทุกคนคือตัวตลก แต่จริง ๆ แล้วคือไม่ใช่"

 

ในสายตาของซูซี่ เธอกล่าวว่าคงไม่อาจเหมารวมปฏิกริยาของคนรอบข้างว่าจะเหมือนกันไปเสียทั้งหมด แต่จากประสบการณ์ที่พบเจอมา สีผิวก็ยังเป็นตัวกำหนดทัศนะที่เป็นอคติจากผู้คนบางส่วนที่ได้พบเจอ

 

"บางคนเขาเลือกปิดเลยค่ะ" เธอกล่าว "เขาไม่รับอะไร เขาจะยืนหยัดในสิ่งที่คิดว่า ผิวสีไม่โอเค ผิวสีคือไม่สวย ผิวสีคือขี้เหร่ ผิวสีคือคนเลว ผิวสีคืออาชญากร ผิวสีคือไม่น่าคบหา บางคนเขาจะยืนหยัดในจุดแบบนี้" แล้วคนเหล่านั้นจะเรียนรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร เราถาม

 

ซูซี่ซึ่งเป็นแม่ของลูกชายวัย 5 ขวบ ตอบในทันที่ว่า สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พ่อแม่สำคัญมากในการสร้างให้ลูกหลานเป็นเด็กประเภทไหน ไม่ใช่แค่เรื่องผิวสี แต่รวมถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย

 

"เหตุการณ์ที่ซูซี่เคยเจอคือไปเดินห้าง แล้วเด็กเขาชี้ว่าแม่ดูไอ้หน้าดำสิ ซูซี่ก็ช็อกแล้วนะ แต่ที่ช็อกกว่านั้นคือแม่เขากลับหัวเราะ มันทำให้ซูซี่รู้สึกว่าจริงๆ ถ้าไม่พร้อมมีลูก คือไม่ต้องมีนะคะ ถุงยางมีค่ะ" เธอกล่าว

 

"เด็กคือผ้าขาวอย่างที่คนไทยพูดจริง ๆ มันอยู่ที่ว่าเราจะแต่งเติมอะไรจริง ๆ ค่ะ ถ้าเราแต่งเติมเขาอย่างดี สอนให้เขารู้ว่าการเหยียดการบูลลี่คนไม่ดี เด็กยังไงก็ไม่บูลลี่"

 

ซูซี่สอนลูก

เมื่อมีลูก ซูซี่บอกว่าหากลูกต้องเข้าโรงเรียนในเมืองไทย เธอกังวลว่าลูกอาจได้รับประสบการณ์ที่ไม่ต่างจากเธอในวัยเด็ก

"ต่อให้เราดูเหมือนจะแข็งแรง แต่เอาจริง ๆ ถ้าให้ลูกมาโดนเหมือนเรา เราก็เจ็บหัวใจเหมือนกัน ก็ยังคิดว่า เรายังไม่แข็งแรงพอที่จะให้เขาเจอแบบนั้น" เธอบอก "คำพูดพวกนี้มันทำให้เราไม่มั่นใจ"

 

เธอเลี้ยงลูกด้วยตัวเองมาเป็นเวลาห้าปีแล้วตั้งแต่ลูกเกิด และพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกภูมิใจ เป็นตัวของตัวเอง

 

"ซูซี่ถามเขา (ลูกชาย) เลยว่า ชอบผิวนี้ไหมเขาบอกว่าเขาชอบซูซี่ถามว่าผิวนี้สวยไหม เขาบอกว่าสวย ชอบไหม เขาบอกว่าชอบ อยากขาวไหม เขาก็บอกว่าไม่ ซูซี่ก็ดีใจ... ซูซี่พยายามให้เขารู้สึกว่า ผิวเขาน่ะมีค่านะ ไม่ใช่เขาไม่หล่อไม่สวย"

 

พลังงานที่ดี

ท่าทางและบุคลิกภาพที่มั่นใจในแต่ละคลิปวิดีโอผ่านเพจเฟซบุ๊ก Blasian Chick หลายต่อหลายคลิป บ่งบอกให้รู้ว่าซูซี่มีทัศนคติที่ดีต่อตัวเองอย่างยิ่ง

"ต้องมั่นใจ และต้องไปอยู่ในที่ที่ถูกจุด อยู่ในที่ ๆ ตัวเองสามารถ shine (เปล่งประกาย) ได้ อยู่ในที่ ๆ คุณรู้สึกมีค่า"

 

ซูซี่กล่าวว่าในช่วงวัยรุ่น เคยเจอประสบการณ์ที่แวดล้อมด้วยคนรอบตัวที่ทำให้เธอรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เธอถามตัวเองว่าทำไมต้องรู้สึกแย่เพราะคนรอบข้าง และได้คำตอบว่า "เราจะแย่ไม่ได้ ชีวิตเรา เราต้องความสุขกับมันสิ"

 

"บางคนไปถามหาความมั่นใจ แต่ยังอยู่ผิดที่ผิดทางอยู่เลย ยังอยู่ในเพื่อนที่... เฮ้ยแต่งตัวอะไร เฮ้ยไปลดน้ำหนักได้แล้วป่ะ เฮ้ยทำไมดำอย่างนี้ คุณก็ไม่มีวันสวย ไม่มีวันถ้ายังอยู่ในสังคมแบบนี้อยู่ เพราะฉะนั้นลอง เปลี่ยนค่ะเราต้องกล้าเปลี่ยน"

 

Black Lives Matter

นักคัฟเวอร์หญิงลูกครึ่งยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระแส Black Lives Matter การชุมนุมประท้วงเพื่อสิทธิคนผิวดำจากการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในสหรัฐฯ ว่า ในสังคมไทยก็มีการเลือกปฏิบัติเช่นกัน แต่ "ของคนไทยเป็นฟีลติดตลก" อย่างไรก็ตาม ซูซี่บอกว่าก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าในสังคมใด และความคิดที่ว่า "ผิวสีก็เหยียดเอเชีย" ถูกกระทำแบบนั้นก็ดีแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดแบบเหมารวม เพราะการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งเป็นพ่อของลูกสาวสองคน เป็นเรื่องที่น่าหดหู่

 

"ไม่ว่าจะประเทศไหนหรือประเทศใดก็แล้วแต่ เราไม่สมควรโดนปฏิบัติแตกต่าง เพียงเพราะแค่สีผิว มันเป็นอะไรที่ไม่มีเหตุผลเลย... เพราะว่าคนดำก็คือคน แค่สีผิว สีผิวแค่นี้ แต่หัวใจความรู้สึกเราเหมือนพวกคุณหมดเลยทุกอย่าง"

 

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/317076245971122/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง