รีเซต

การถอนกำลังของสหรัฐฯ สาเหตุหลักทำกองทัพอัฟกันล่มสลาย?

การถอนกำลังของสหรัฐฯ สาเหตุหลักทำกองทัพอัฟกันล่มสลาย?
TNN ช่อง16
20 พฤษภาคม 2565 ( 20:25 )
96
การถอนกำลังของสหรัฐฯ สาเหตุหลักทำกองทัพอัฟกันล่มสลาย?

สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน เผยว่า การตัดสินใจถอนกำลังออกจากกรุงคาบูลของสหรัฐฯ เป็นสาเหตุหลักที่กองทัพอัฟกันต้องเผชิญกับการล่มสลาย


---บ่อเกิดจากเหตุการณ์ 9/11---


รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน โดยหน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน ระบุว่า การถอนกำลังของทหารสหรัฐฯ และทหารรับจ้างในปีที่แล้ว ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว” ในการกระตุ้นให้เกิดการล่มสลายของกองกำลังป้องกันและความมั่นคงแห่งชาติอัฟกัน หรือ ANDSF 


สหรัฐฯ ให้งบเกือบ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับกองทัพอัฟกันตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะต่อสู้กับกลุ่มกบฏติดอาวุธตาลีบัน ทั้งนี้ ตาลีบันสิ้นสุดการปกครอง หลังสหรัฐฯ บุกโจมตีในปี 2001 จากเหตุวินาศกรรม 9/11


รายงานฉบับใหม่โดยคณะผู้ตรวจสอบพิเศษด้านการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน หรือ SIGAR ชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ นำไปสู่การล่มสลายของกองทัพอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และเกิดการยึดครองของตาลีบันในเวลาต่อมา


---หรือการถอนกำลังคือการยอมแพ้?---


รายงานระบุว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับตาลีบันที่ลงนามโดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ซึ่งสหรัฐฯ ตกลงที่จะถอนกำลังและทหารรับจ้างออกจากอัฟกานิสถาน “ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง  ที่สำคัญ ซึ่งทำให้เข้าใจถึงการล่มสลายของ ANDSF”


หลังเกิดข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ ลดการโจมตีทางอากาศลง ซึ่งส่งผลให้ ANDSF ไร้ข้อได้เปรียบในการควบคุมกลุ่มตาลีบัน และทำให้ “ANDSF และประชากรอัฟกันรู้สึกถูกทอดทิ้ง


ชาวอัฟกันหลายคนคิดว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับตาลีบันมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ และเป็นสัญญาณว่า สหรัฐฯ กำลังส่งมอบอัฟกานิสถานให้กับศัตรู หลังรีบถอนกำลังออกจากอัฟกาฯ” SIGAR กล่าว


---เจาะสาเหตุกองทัพอัฟกาฯ ไม่ได้ไปต่อ---


รายงานอ้างถึงอดีตเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ และอัฟกัน โดยระบุว่า การถอนตัวของทหารรับจ้าง ทำให้กองทัพอากาศอัฟกันออกบินไม่ได้ และเป็นการตัดสินชะตากรรมของอัฟกานิสถาน


เราสร้างกองทัพอัฟกันขึ้นมา เพื่อสนับสนุนทหารรับจ้าง หากไร้ซึ่งทหารรับจ้าง กองทัพก็ทำอะไรไม่ได้” อดีตผู้บัญชาการสหรัฐฯ คนหนึ่งในอัฟกานิสถาน กล่าวกับ SIGAR


ตอนที่ทหารรับจ้างอกจากอัฟกานิสถาน มันเหมือนกับการดึงไม้ทั้งหมดออกจากกองไม้จังกา และคิดว่ามันจะยังตั้งอยู่เหมือนเดิม” เขา กล่าว


อดีตนายพลชาวอัฟกันบอกกับ SIGAR ว่า หลังการถอนตัวของทหารรับจ้าง ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการซ่อมบำรุง ทำให้เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กราว 60% ก็ใช้งานไม่ได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน 


ในเดือนมีนาคม 2021 ระหว่างที่ฝ่ายบริหารของไบเดนเข้ามาพิจารณานโยบายอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันขู่ที่จะกลับมาโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ และนาโตอีกครั้ง หากไม่ถอนกำลังภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2021


---ขวัญกำลังใจที่หายไปพร้อมการถอนทัพ---


ตามรายงานของ SIGAR การประกาศถอนตัวของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2021 ได้ทำลายขวัญกำลังใจของ ANDSF เนื่องจากเจ้าหน้าที่อัฟกันพึ่งพากองทัพสหรัฐฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียรุนแรงมาเป็นเวลานาน และรัฐบาลอัฟกันยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองด้วย


เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ขณะที่ตาลีบันบุกถึงกรุงคาบูล เมืองหลวงอัฟกานิสถาน กองกำลัง 6 ใน 7 ของกองทัพอัฟกัน ได้ยอมจำนนหรือสลายกำลังไปเอง


SIGAR พบว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการจัดหาเชื้อเพลิง โดยกองกำลัง ANDSF ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอุปทาน และการโฆษณาชวนเชื่อเชิงรุกของตาลีบัน ซึ่งมุ่งหมายจะทำให้กองทัพเสียกำลังใจ และสร้างความหวาดระแวงซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมที่ท้าทายอยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก


อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อรายงานของ SIGAR ด้านหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด 


---ปัจจัยที่ส่งผลต่อการล่มสลายของ ANDSF---


SIGAR ยังระบุปัจจัยอีกหลายประการที่อธิบายว่า ทำไมเวลากว่า 20 ปี และงบความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยเกือบ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงทำให้ ANDSF ยังไม่สามารถดูแลความมั่นคงในประเทศของตนเองได้ หลังสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไป


หนึ่งในนั้น คือ การประเมินระยะเวลาพันธะสัญญาของสหรัฐฯ ที่ไม่อยู่บนความเป็นจริงการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในระยะยาว เช่น การจัดหาอุปกรณ์ขั้นสูงที่ไม่สามารถใช้การได้ หากไม่มีสหรัฐฯ และการขาดมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อวัดความสามารถของ ANDSF รวมถึงการทุจริตของรัฐบาลอัฟกานิสถาน


SIGAR พบว่า ANDSF ยังคงพึ่งพากองทัพสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯ ออกแบบ ANDSF ให้เป็นภาพสะท้อนของกองกำลังสหรัฐฯ โดยสร้างโครงสร้างทางทหารแบบผสมผสาน ซึ่งต้องมีความเป็นมืออาชีพและความเป็นผู้นำทางทหารในระดับสูง 


---กองทัพอัฟกันที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง---


เนื่องจากกองทหารสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพในการสู้รบสูงกว่ามาก พวกเขาจึงมักจะจัดหรือเติมเต็มจุดบอดในภารกิจ โดยที่ ANDSF ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง


นอกจากนี้ แทนที่จะพัฒนากลยุทธ์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ และการวางแผนเพื่อความมั่นคง หลังสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไป รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ได้เปลี่ยนผู้นำของ ANDSF และแต่งตั้งผู้ที่จงรักภักดี โดยกีดกันเจ้าหน้าที่ ANDSF ที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯ


อย่างไรก็ตาม SIGAR พบว่า กลุ่มตาลีบันกำลังใช้ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้ในอัฟกานิสถาน โดยเครื่องบินที่สหรัฐฯ จัดหาให้บางลำได้รับการซ่อมแซมแล้ว และเครื่องบินลำอื่น  ยังคงอยู่ในบริเวณชายขอบในประเทศอื่น

————

แปล-เรียบเรียงพัชรี จันทร์แรม

ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง