รีเซต

แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา หนึ่งเดียวในภาคใต้

แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา หนึ่งเดียวในภาคใต้
TNN ช่อง16
7 สิงหาคม 2563 ( 09:17 )
681
แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา หนึ่งเดียวในภาคใต้

วันที่ 7 สิงหาคม  2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนัตถ์ รามแก้ว ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล พร้อมด้วยนายธานินทร์  นิยมสินธุ์  ผอ. ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 4   พร้อมเจ้าหน้าที่ลงสำรวจถนนทางหลวงหมายเลข 404 ละงู – ฉลุง อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นเส้นทางมุ่งหน้าไปยังจังหวัดตรัง และเป็นเส้นทางตรงที่มีรถยนต์วิ่งไปมาอย่างรวดเร็ว  โดยเป็นการทดลองติดตั้งจุดแรกในจังหวัดสตูล และจุดแรกในภาคใต้ รวมทั้งโรงงานผลิตฯอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล อีกด้วย 

นายธนัตถ์ รามแก้ว ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล  เปิดเผยว่า แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา ที่เป็นนโยบายแรกๆ ที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรมว.คมนาคม ประกาศ คือต้องใช้ประโยชน์จากยางพาราเพิ่ม จากเดิมใช้ผสมเพื่อปูผิวทาง หรือผิวทางแบบพาราสเลอรีซีล (Para Slurry Seal) วัสดุในการทำผิวถนน มาเป็นการใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากผิวถนน เช่น แบริเออร์ หลักกันโค้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราให้มีรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืนนั้น หลังจากผ่านการวิเคราะห์ทดสอบ ความคืบหน้าล่าสุด ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย


หลังจากที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับนโยบายการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เช่น การนำ Rubber Fender Barriers (แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา) มาใช้เพื่อลดโอกาสการชนกันของรถยนต์ และให้พิจารณางดการสร้างเกาะกลางแบบเกาะหญ้าสำหรับโครงการก่อสร้างถนนในอนาคต ยกเว้นในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ที่ต้องการความสวยงาม เพื่อลดงบประมาณด้านการบำรุงรักษา

ทช.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการทดสอบ Rubber Fender Barriers (RFB) ทั้งตัวแผ่นยางที่หุ้มแบริเออร์ ตัวคอนกรีตแบริเออร์ ผ่านการทดสอบในการรับน้ำหนัก การคงทนสภาพ ในห้องปฏิบัติการ (lab) จากนั้นได้ส่งไปทดสอบต่อที่สถาบัน KATRI (Korea Automobile Testing & Research Institute) ประเทศเกาหลี เมื่อเดือน ก.พ. 2563

ผลปรากฏว่ารถกระบะขับเคลื่อนด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่มุมชน 20 องศา ทำให้รถกระบะแฉลบไปตามแนว Rubber Fender Barriers ซึ่งโดยปกติการชนในลักษณะนี้กับแบริเออร์คอนกรีตที่ไม่ได้หุ้มยางพารารถจะชนทะลุแท่งคอนกรีต นอกจากนี้ยังพบว่า Rubber Fender Barriers สามารถรับแรงกระแทกได้ดี โดยหุ่น dummy ในรถกระบะไม่กระเด็นเปลี่ยนทิศทาง (รับแรงกระแทกน้อยกว่า 60g) โดยแผ่นยางบนแท่งคอนกรีตเสียหายเพียง 4 แผ่น บางแผ่นสามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ ซึ่งทีมงานวิจัยได้พัฒนารูปแบบการติดตั้ง RFB โดยใช้กาว epoxy ติดแผ่นยางกับแบริเออร์ ทำให้แผ่นยางติดแน่นและมีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปี ส่วนรถยนต์พบเสียหายด้านชนเพียงด้านเดียว และไม่พลิกคว่ำ รถไม่เหินข้าม RFB เหมือนแบริเออร์ประเภทอื่น


สรุปได้ว่า Rubber Fender Barriers กับความเร็วของรถยนต์ที่ 120 กม./ชม. มีความปลอดภัยในการใช้ถนนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้จึงได้ลงสำรวจจุดที่จะติดตั้ง แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา เพื่อจัดตั้งจุดเป้าหมายเตรียมไว้ และเป็นพื้นที่การติดตั้งในพื้นที่ภาคใต้ จุดแรกจุดทดลองคือในพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อทำการทดลองการใช้ในครั้งนี้  รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือรับซื้อน้ำยางพาราจากชาวเกษตรกรสวนยางพาราอีกด้วย


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง