รีเซต

ทำไมหุ้นถูก Forced Sell ?

ทำไมหุ้นถูก Forced Sell ?
ทันหุ้น
19 มิถุนายน 2567 ( 16:14 )
19
ทำไมหุ้นถูก Forced Sell ?

#ฟอร์ซเซล #ทันหุ้น - บัญชีมาร์จิ้น หรือเครดิตบาลานซ์ (Margin Account / Credit Balance)

 

บัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) หรือเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance) เป็นบัญชีที่โบรกเกอร์เปิดเพื่อให้สินเชื่อกับนักลงทุนในการลงทุนซื้อหลักทรัพย์ โดยนักลงทุนจ่ายเงินซื้อเองส่วนหนึ่ง ที่เหลือโบรกเกอร์จะเป็นฝ่ายจ่าย ซึ่งเงินที่โบรกเกอร์จ่ายให้นั้น ถือว่าเป็นเงินส่วนที่นักลงทุนกู้จากโบรกเกอร์นั่นเอง

 

บัญชีประเภทนี้กล่าวง่าย ๆ คือ “มีเงินส่วนหนึ่ง กู้เพื่อลงทุนอีกส่วนหนึ่ง” โดยนักลงทุนต้องนำเงินสดหรือหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ก่อนซื้อหุ้นตามสัดส่วนที่โบรกเกอร์กำหนด เช่น กำหนดสัดส่วนที่ 50% ของวงเงินกู้ ดังนั้น ในการซื้อหุ้น 100 บาท นักลงทุนออกเงินตัวเอง 50 บาท ใช้เงินโบรกเกอร์อีก 50 บาท ซึ่งนักลงทุนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ด้วย

 

ข้อควรระวังในการเลือกใช้บัญชีประเภทนี้ คือ วงเงินกู้ยืมอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามราคาหุ้นที่วางเป็นหลักประกันไว้ ถ้าราคาหุ้นที่วางเป็นหลักประกันไว้ลดลงมาก ๆ จนอัตรามาร์จิ้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โบรกเกอร์อาจบังคับให้ลูกค้าวางหลักประกันหรือเรียกเงินสดเพิ่ม หรืออาจบังคับขาย (Forced Sell) หุ้นดังกล่าว เพื่อรักษาอัตรามาร์จิ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด การซื้อขายในบัญชีมาร์จิ้นจะสามารถซื้อขายได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่โบรกเกอร์กำหนดให้ซื้อขายผ่านบัญชีมาร์จิ้นได้เท่านั้น ดังนั้น บัญชีมาร์จิ้นจึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนสูง มีความสามารถในการลงทุน และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี

 

การเรียกหลักประกันเพิ่ม (Margin Call)

การที่บริษัทหลักทรัพย์เรียกให้ลูกค้านำเงินสดมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม เพื่อให้มูลค่าหลักประกันของลูกค้า เทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ใน Margin Account ของลูกค้านั้นคิดเป็นอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า Maintenance Margin Rate ที่ถือเป็นเกณฑ์ Margin Call

 

สมติว่า Maintenance Margin Rate ที่เป็นเกณฑ์ Margin Call เท่ากับร้อยละ 35 สำหรับการกู้เงินซื้อหลักทรัพย์ หากว่านาย ก. ซื้อหุ้นมูลค่า 100,000 บาท โดยวางหลักประกัน 50,000 บาท ไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ หากว่าราคาหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้ต่ำลงเหลือ 75,000 บาท เป็นเหตุให้หลักประกันของลูกค้ามีมูลค่าเหลือ 25,000 บาท [คือ 50,000 - (100,000 - 75,000)] เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ปัจจุบัน 75,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 33.33 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ Margin Call

 

ในกรณีนี้บริษัทหลักทรัพย์จะเรียกให้นาย ก. นำเงินมาวางมาร์จิ้นเพิ่ม เพื่อให้มูลค่าหลักประกันเทียบกับยอดมูลค่าหลักทรัพย์ปัจจุบันแล้ว มีอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ซึ่งในกรณีนี้ มูลค่าหลักประกันโดยรวมจะต้องสูงกว่า 26,250 บาท (หรือร้อยละ 35 ของ 75,000 บาท) ดังนั้น นาย ก. ต้องนำเงินมาวางเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1,250 บาท (หรือ26,250-25,000 บาท) เป็นต้น

 

หลักเกณฑ์นี้ได้นำมาใช้กับลูกค้า Short Sell ด้วย คือ ถ้าราคาหลักทรัพย์ที่ลูกค้าขายชอร์ตไว้เกิดสูงขึ้น เกิดผลขาดทุนจนมูลค่าหลักประกันเทียบกับมูลค่าหุ้นที่ขายชอร์ตไว้ คิดเป็นอัตราที่ต่ำลงมาถึงระดับที่เป็นเกณฑ์ Margin Call แล้ว ก็ต้องมีการเรียกหลักประกันเพิ่มเช่นเดียวกัน

 

การบังคับขาย (Forced Sell)

การที่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นเจ้าหนี้ นำส่วนหนึ่งของหลักทรัพย์ในบัญชีเงินกู้ยืมซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้าออกขาย เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของลูกค้ารายนั้น บริษัทหลักทรัพย์จะทำการบังคับขายก็ต่อเมื่อหลักประกันหนี้ของลูกค้ามีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้แล้ว โดยมีอัตราส่วนเท่ากับหรือต่ำกว่าระดับอัตราหลักประกันที่ต้องดำรงไว้ (Maintenance Margin Rate) ที่เป็นเกณฑ์การบังคับขาย

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง