'กัมพูชา-เวียดนาม' จับมือสกัดโควิด-19 ตามแนวชายแดน
พนมเปญ, 23 ธ.ค. (ซินหัว) -- วันพุธ (23 ธ.ค.) แถลงการณ์จากกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชาระบุว่ากัมพูชาและเวียดนามให้คำมั่นจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด -19) ตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ
ทั้งสองประเทศแสดงคำมั่นระหว่างการประชุมออนไลน์ของคณะกรรมาธิการร่วมกัมพูชา-เวียดนาม ครั้งที่ 18 เกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอังคาร (22 ธ.ค.) โดยมีปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชา และฝ่าม บิงห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเวียดนาม เป็นประธานร่วมกัน
แถลงการณ์ระบุว่ากัมพูชาและเวียดนามต่างยกย่องความร่วมมืออันมีประสิทธิภาพและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการป้องกันและต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกับรักษาเสถียรภาพทางการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน
"ส่วนความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจะเดินหน้าการบังคับใช้ข้อตกลงการกักกันทางสาธารณสุขตามแนวชายแดน (Agreement on Border Health Quarantine) และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และโรคระบาดอื่นๆ ตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศอย่างทันท่วงที" แถลงการณ์ระบุ
กัมพูชาและเวียดนามยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจังหวัดตามแนวชายแดน รวมถึงจัดสรรหลักสูตรฝึกอบรม ทุนการศึกษา การดูงาน การสัมมนา หรือการประชุมด้านการดูแลสุขภาพ
อนึ่ง ทั้งสองประเทศต่างประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกัมพูชามีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 363 ราย โดยมีผู้ป่วยหายดี 349 ราย และไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ขณะเวียดนามมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 1,420 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 35 ราย และผู้ป่วยหายดี 1,281 ราย
กัมพูชาและเวียดนามยังเห็นพ้องยกระดับความร่วมมือปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมองค์กร และอาชญากรรมไซเบอร์ รวมถึงพัฒนากลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลรอบด้าน ส่วนประเด็นเกี่ยวกับชายแดน ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำพันธสัญญาที่จะเคารพซึ่งกันและกัน ดำเนินการตามสนธิสัญญาชายแดนที่เกี่ยวข้องและข้อตกลงที่ลงนามร่วมกัน
ทั้งสองประเทศยังส่งเสริมให้คณะกรรมาธิการการแบ่งเขตแดนร่วมกัมพูชา-เวียดนาม (JBCs) ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาทางออกอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อสะสางประเด็นเขตแดนอีกร้อยละ 16 ที่ยังไม่ถูกแบ่งสรร