กาฬสินธุ์เร่งนำเครื่องจักรซ่อมพนังกั้นแม่น้ำชีขาด น้ำท่วมนาข้าวแล้วกว่า 3 พันไร่
จากกรณีพนังกั้นแม่น้ำชีบริเวณบ้านแจ้งจม หมู่ 7 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ขาดเป็นทางยาวกว่า 10 เมตร เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ส่งผลให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง ท่วมนาข้าวหลายร้อยไร่ พร้อมเตือนประชาชนพื้นที่รับน้ำนำสัตว์เลี้ยงและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ขณะที่เจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ภัยเร่งนำเครื่องจักรเข้าซ่อมอุดรอยขาด ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตรงจุดพนังกั้นแม่น้ำชีขาด นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาพนังกั้นแม่น้ำชีขาด โดยมีนายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว นายกฤษดา ธีระชวาลวงศ์ ผู้อำนวยการทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์ และหน่วยกู้ภัยเตรียมพร้อมช่วยเหลือ
โดยจากการตรวจสอบพบพนังพ้นแม่น้ำชีขาดตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. ซึ่งตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งนำเครื่องจักรกลหนัก ทั้งรถแบ็คโฮ รถบรรทุกดิน กำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครกู้ภัย ผู้นำชุมชน และชาวบ้านได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยระดมกำลังประกอบตะแกรงบรรจุก้อนหินใหญ่ เพื่อทำการปิดทางน้ำตรงจุดที่พนังกั้นแม่น้ำขาด จากการกัดเซาะของมวลน้ำ ซึ่งมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ทั้งนี้ การดำเนินการเป็นไปด้วยด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก
ด้านนายคำมอน ศรีพงษ์เสริฐ กำนันตำบลเจ้าท่า กล่าวว่า สาเหตุของพนังกั้นแม่น้ำชีขาดในครั้งนี้ น่าจะเกิดจากการที่มีมวลน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลมาจาก จ.มหาสารคาม เกิดการหนุนสูงต่อเนื่องมานานกว่า 1 เดือน ซึ่งอาจจะทำให้เนื้อดินที่เป็นพนังเกิดการอิ่มน้ำและอ่อนตัว จึงถูกกระแสน้ำกัดเซาะพนังตรงจุดที่ขาดดังกล่าว ทั้งนี้เบื้องต้นได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบรอยรั่วเวลาประมาณ 05.00 น. จึงได้ออกไปสำรวจ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบรอยน้ำกัดเซาะด้านฝั่งแม่น้ำชีเป็นโพรงกว้าง ขณะที่มีรอยรั่วฝั่งตรงข้ามที่เป็นพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านมีน้ำทะลุออกมา จึงได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไข แต่คงจะเป็นเพราะกระแสน้ำที่กัดเซาะทวีความแรงขึ้น รอรรั่วดังกล่าวได้ขยายตัว และกัดเซาะพนังกั้นแม่น้ำชีพังทลาย และพนังถูกตัดขาดดังกล่าว ทั้งนี้ ปริมาณของน้ำในแม่น้ำชีที่หนุนสูงมากกว่าปี 2554 ที่ท่วมหนัก แต่ความเสียหายน้อยกว่า เพราะเพิ่งเกิดเหตุ และกำลังทำการสำรวจเบื้องต้น ซึ่งพบว่ามีนาข้าวถูกน้ำท่วมจากพนังขาดแล้วกว่า 3,000 ไร่
ด้านนายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าหลังเกิดเหตุนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กำชับให้เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่อำเภอกมลาไสย เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรมกาฬสินธุ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งซ่อมอุดรอยขาด และนำเครื่องจักรเข้าถมดินโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความรุนแรงและความเสียหาย ตลอดจนบรรเทาความเดือดร้อน จากการไหลท่วมพื้นที่การเกษตร
นายธนทรกล่าวอีกว่า เนื่องจากมวลน้ำมีปริมาณมากและไหลแรง จึงเป็นอุปสรรคในการปิดรอยรั่วของน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตั้งแต่ช่วงเช้า สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณแม่น้ำชี 3 อำเภอตั้งแต่ปริมาณน้ำไหลเข้ามาในพื้นที่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ร่องคำ บ้านเรือนราษฎรที่อยู่ติดฝั่งแม่น้ำชีได้รับผลกระทบหนัก 8 ครัวเรือน ซึ่งได้ทำการอพยพไปที่อยู่ในปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ภาพรวมพื้นที่การเกษตร 5 ตำบล พื้นที่การเกษตร 10,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแก้ไขจุดที่พนังกั้นแม่น้ำชีขาดก็ระดมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้