รีเซต

ปธ.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ชี้ ภาระด่านหน้าสาหัส แนะ เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ-กลุ่มโรคเรื้อรัง ลดอัตราเสียชีวิต

ปธ.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ชี้ ภาระด่านหน้าสาหัส แนะ เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ-กลุ่มโรคเรื้อรัง ลดอัตราเสียชีวิต
มติชน
4 สิงหาคม 2564 ( 09:30 )
31
ปธ.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ชี้ ภาระด่านหน้าสาหัส แนะ เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ-กลุ่มโรคเรื้อรัง ลดอัตราเสียชีวิต

 

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

 

 

จัดทำรูปจากข้อมูลในเวปไซต์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/ มาจัดทำเป็นกราฟเองครับ

 

 

รูปแรกแสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 รักษาอยู่ ใน รพ. และ รพ.สนาม

 

 

รูปที่ 2 แสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 อาการหนัก ใช้เครื่องช่วยหายใจ และ เสียชีวิต ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. – 3 ส.ค.2564 ไม่อธิบายตัวเลข ดูจากรูปน่าจะเข้าใจถึงภาระงานของระบบการรักษาพยาบาลที่หนักหนาสาหัสอยู่ในตอนนี้ครับ

 

 

วันนี้เป็นวันแรกที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ (18,901) ใกล้เคียงกับจำนวนผู้รักษาหาย (18,590) ห่างกันเป็นหลักร้อย ลดลงจากที่ผ่านมาที่เห็นหลักหลายพันมาตลอดครับ

 

 

การให้ผู้ป่วยกลับบ้านเร็วขึ้น และกลับไปทำ Home isolation ต่อหลังจากอาการดีขึ้น คงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยที่จะกลับบ้านเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับ เพื่อเปิดเตียงว่างรับผู้ป่วยใหม่ได้เพิ่มขึ้น

 

 

การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ยังมีความสำคัญมาก ตอนนี้เชื้อสายพันธุ์เดลตาระบาดได้ง่ายมาก ผู้ป่วยโควิด 19 ไม่รู้ตัวว่าติดจากที่ใดเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้แนวคิดว่าทุกคนมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อมาให้กับเรา แม้ว่าเขาไม่มีอาการอะไร ถ้าไม่จำเป็นก็ควรอยู่บ้านเป็นหลัก เว้นระยะห่างแม้อยู่ในบ้าน ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเสมอ ถ้าไปในที่ผู้คนแออัดใส่แผ่นใสกันหน้า (face shield) ร่วมด้วยยิ่งดี แล้วยังต้องคิดเสมอว่าพื้นผิวหรือสิ่งของที่สัมผัสอาจมีเชื้อโรคติดอยู่ ทุกครั้งที่สัมผัสจึงต้องล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เสมอ โดยเฉพาะก่อนใช้มือสัมผัสใบหน้าก็ต้องล้างมือก่อนทุกครั้งครับ

 

 

ถึงจะเห็นว่าผู้ป่วยใน รพ.จะเริ่มคงที่ ซึ่งน่าจะเกิดจากการมีระบบการกักตัวที่บ้านและชุมชน (Home isolation และ Community isolation) มากขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คงต้องพยายามให้มีการคัดกรองได้เร็วขึ้นด้วย ATK และรีบให้เข้าสู่ระบบการรักษาเมื่อได้ผลบวกโดยไม่ต้องรอผล RT-PCR และที่สำคัญคือต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อช่วยลดอาการรุนแรง ลดระยะเวลานอน รพ.ในกลุ่มนี้ และลดอัตราการเสียชีวิตด้วยครับ

 

 

ขอแสดงความห่วงใยกับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน และคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง