รีเซต

'คลัง' ส่งซิก เดินหน้ารีดภาษี ล้างหนี้โควิด ลุยภาษีความเค็ม ต่อจากภาษีความหวาน

'คลัง' ส่งซิก เดินหน้ารีดภาษี ล้างหนี้โควิด ลุยภาษีความเค็ม ต่อจากภาษีความหวาน
ข่าวสด
22 ธันวาคม 2564 ( 16:28 )
48
'คลัง' ส่งซิก เดินหน้ารีดภาษี ล้างหนี้โควิด ลุยภาษีความเค็ม ต่อจากภาษีความหวาน

ข่าววันนี้ 22 ธ.ค.64 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาออนไลน์ “ยุทธศาสตร์สรรพสามิต ภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ NEXT NORMAL” ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้มีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการกู้เงิน วงเงินรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

 

ซึ่งเป็นการดำเนินการเหมือนกับทุกรัฐบาลทั่วโลก ขณะเดียวกันนโยบายการเงินอีกด้านก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วย ทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การให้สินเชื่อ และการปรับโครงสร้างหนี้ในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ภาครัฐมีการใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากการใช้จ่ายประจำปีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งกลับมาพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาชำระหนี้เงินกู้ที่นำมาใช้จ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยมาตรการหนึ่ง คือการลดหย่อนภาษี ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง เร่งพิจารณาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ 1. การดึงเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน โดยล่าสุดมีบริการใหม่ Digital Supplychain Finance ที่จะเข้ามาช่วยในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการให้สามารถเชื่อมต่อกับผู้ซื้อรายใหญ่ และระบบสถาบันการเงินทั้งหมด

 

รวมถึงระบบภาษีต่าง ๆ จะมีส่วนส่งเสริมให้มีการใช้ดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการของภาคเอกชน ส่วนสิ่งที่จะเห็นในอนาคตและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า คือ การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ผ่านมาตรการด้านภาษี

 

2. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เรื่องนี้ระบบภาษีจะเข้ามาช่วยทั้งการส่งเสริมและไม่ส่งเสริม โดยในส่วนของการส่งเสริม คือการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในภาคการขนส่ง อุตสาหกรรมและบริการ ขณะเดียวกันต้องไม่ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานสิ้นเปลือง เปลี่ยนระบบรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาใช้ไฟฟ้าแทน

 

และ3. การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคที่สำคัญสำหรับคนไทย ส่วนหนึ่งดำเนินการผ่านมาตรการภาษีสรรพสามิตไปแล้ว คือ ภาษีความหวาน และสิ่งที่จะตามมาในอนาคต คือ การจัดเก็บภาษีความเค็ม เนื่องจากพบว่าอัตราการบริโภคโซเดียมของคนไทยค่อนข้างสูง ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงสำคัญอย่าง ความดันโลหิตสูง และไตวาย

 

ส่วนเรื่องที่ไม่ส่งเสริม คือ สินค้าที่ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพ ทั้งแอลกอฮอล์และยาสูบ โดยจะมีการปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม และลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนลง

 

“การจัดเก็บภาษีจากความเค็มนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาของกรมสรรพสามิต ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันโรคสำหรับคนไทย” นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า ภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ในไทยเริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามา แต่ก็ยังมองในทางบวกว่า ระบบสาธารณสุขของไทยยังมีความรอบคอบ มีมาตรการเข้มงวด และได้รับความร่วมมือจากประชาชน ภาคธุรกิจและทุกภาคส่วน ช่วยทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากรัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กลับมาคึกคักมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีกับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในระยะต่อไป

 

โดยที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ปี 2564-2568 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินมาตรการด้านภาษีและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้บริบทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านโมเดล BCG ซึ่งส่วนหนึ่งคือการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างยั่งยืน

 

“คาดหวังว่าปี 2565 ทุกคนคงไม่อยากเห็นภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ทุกคนมองถึงโอกาสที่ดี และในทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ ดังนั้นประเทศไทยต้องก้าวตามให้ทันเทคโนโลยี ซึ่งกรมสรรพสามิตมีบทบาททั้งการส่งเสริมและไม่ส่งเสริมบางเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์กับสังคมและสุขภาพประชาชน” นายอาคม กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง