รีเซต

กรมชลฯ ส่งหนังสือด่วนถึงปภ.แจ้ง 6 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ระดับน้ำสูง 23-30 ต.ค.

กรมชลฯ ส่งหนังสือด่วนถึงปภ.แจ้ง 6 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ระดับน้ำสูง 23-30 ต.ค.
TNN ช่อง16
19 ตุลาคม 2564 ( 17:01 )
98
กรมชลฯ ส่งหนังสือด่วนถึงปภ.แจ้ง 6 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ระดับน้ำสูง 23-30 ต.ค.

วันนี้ (19 ต.ค.64) กรมชลประทาน ทำหนังสือด่วนถึงอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 6 โดยมีรายละเอียดระบุว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ในช่วงวันที่ 14 - 17 ตุลาคม 2564

ส่งผลให้มีฝนตกหนัก บริเวณลุ่มน้ำปิง เจ้าพระยา สะแกกรัง ท่าจีน และป่าสัก ทำให้เกิดน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี รวมทั้งทำให้ระดับน้ำใน แม่น้ำปิง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำป่าสัก และคลองชัยนาท-ป่าสัก เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากแม่น้ำปิง จะทำให้มีน้ำไหลผ่านบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่มสูงสุดจากในอัตรา 2,484 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,000 - 3,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 22 ตุลาคม 2564 และจะบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา 

โดยการหน่วงน้ำและผันน้ำเข้าคลองต่าง ๆ ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อยู่ในเกณฑ์ 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 0.20 - 0.40 เมตร ในช่วงวันที่ 23 - 30 ตุลาคม 2564 ดังนี้ 

1. จังหวัดสระบุรี บริเวณตำบลแสลงพัง อำเภอวังม่วง และตำบลแก่งเสือเต้น อำเภอพัฒนานิคม

2. จังหวัดชัยนาท บริเวณตำบลโพนางดำออก และตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา

3. จังหวัดสิงห์บุรี บริเวณวัดเสือข้าม วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี

4. จังหวัดอ่างทอง บริเวณคลองโผงเผง วัดไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก

5. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล และแม่น้ำน้อย บริเวณตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอหักไผ่

6. จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 

ขณะที่ แม่น้ำท่าจีน มีปริมาณน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้น เขื่อนกระเสียว และไหลไปสมทบกับปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายเขื่อน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำท่าจีน 150 - 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ จะบริหารจัดการโดยผันน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยา เพื่อลดปริมาณน้ำหลาก โดยปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 0.30 - 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 20 - 27 ตุลาคม 2564


ข้อมูลจาก ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน

ภาพจาก กรมชลประทาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง