รีเซต

สหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไร? หากแดนมังกรเดินหน้ายึดไต้หวัน กับตัวเลือกคว่ำบาตรถึงเปิดศึกสู้รบ

สหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไร? หากแดนมังกรเดินหน้ายึดไต้หวัน กับตัวเลือกคว่ำบาตรถึงเปิดศึกสู้รบ
TNN ช่อง16
27 ตุลาคม 2564 ( 12:32 )
55
สหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไร? หากแดนมังกรเดินหน้ายึดไต้หวัน กับตัวเลือกคว่ำบาตรถึงเปิดศึกสู้รบ

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศ ระบุว่า หากจีนยึดหนึ่งในหมู่เกาะของไต้หวัน สหรัฐฯ ก็จะมีทางเลือกที่ดีไม่กี่ทางที่จะตอบโต้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการเพิ่มความรุนแรง และเสี่ยงที่จะเกิดสงครามระหว่างชาติมหาอำนาจ


ศูนย์ความมั่นคงใหม่สำหรับอเมริกัน ลองตั้งสมุติฐาน สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ‘หากจีนยึดไต้หวันจะเป็นอย่างไร’ ระบุว่า น่าจะเริ่มต้นโดยจีนใช้กำลังทหารเข้าควบคุมตงซา ซึ่งเป็นเกาะปะการังเล็ก ๆ ในทะเลจีนใต้ อยู่ระหว่างไต้หวันและฮ่องกง ซึ่งมีทหารไต้หวันประมาณ 500 นายประจำการอยู่


แม้จะเป็นการรุกรานทีละนิด แต่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการยึดเกาะอื่น ๆ ใกล้ไต้หวัน หรือยึดเกาะไต้หวันได้ ซึ่งจะเป็นการทดสอบดูว่า สหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องไต้หวันมากน้อยเพียงใด


ศูนย์ฯ มองว่า ถ้าหากจีนสร้างรอยเท้าทางทหารของตนเองบนตงซา และขับกองทหารไต้หวันออกไปแล้ว สหรัฐฯ ก็ไม่มีทางที่จะบังคับจีนให้คืนเกาะแห่งนี้ ให้กลับไปอยู่ภายใต้การควบคุมของไต้หวันได้อีกต่อไป


◾◾◾

🔴 หากเป็นเช่นนั้นจริง สหรัฐฯ จะมีทางออกอย่างไร?


นักวิเคราะห์มองว่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจใช้เวลานานกว่าจะเกิดผล และดูเป็นทางเลือกที่อ่อนแอ จนแทบจะไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของจีน ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ถ้าใช้กำลังทหาร ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงคราม ซึ่งทั้งสหรัฐฯ กับไต้หวันต่างก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น


◾◾◾

🔴 ถ้าอย่างนั้นอะไรคือวิธีที่สหรัฐฯ ควรทำ?


รายงานจาก ศูนย์ความมั่นคงใหม่สำหรับอเมริกัน ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นถึงความร่วมมือแบบพหุภาคี ระบุว่า สหรัฐฯ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ต้องพยายามขัดขวางการรุกราน หรือการบีบบังคับทีละนิดจากจีนต่อไต้หวัน และความร่วมมือกับญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยับยั้งจีนอย่างมีประสิทธิภาพ


เดวิด โคเฮน รองผู้อำนวยการ CIA ระบุว่า แผนของจีนที่มีต่อไต้หวัน เป็นประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ และเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง สำหรับศูนย์ปฏิบัติภารกิจจีนของ CIA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อเน้นการรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองเกี่ยวกับจีนโดยเฉพาะ


อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ CIA ยังไม่เห็นอะไรที่บ่งชี้ว่าจีนกำลังเตรียมการรุกรานทางทหาร ตามที่มีการประเมินกัน


◾◾◾

🔴 ไครเมียโมเดล


ขณะนี้นักวิเคราะห์ของศูนย์ปฏิบัติภารกิจจีน กำลังพยายาม "ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักในประเด็นนี้ว่า คิดอย่างไรต่อไต้หวัน เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐฯ มี "ตัวบ่งชี้" สำหรับการบุกรุกที่เป็นไปได้ จึงจะสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดได้


ขณะนี้ทางศูนย์มองว่า การตัดสินใจของประธานาธิบดีสีต่อไต้หวัน น่าจะเกี่ยวข้องกับท่าทีจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการเปรียบเทียบความแข็งแกร่งระหว่างกองทัพจีนกับกองทัพสหรัฐฯ


ขณะที่ มาร์ค เคลตัน อดีตรองผู้อำนวยการ CIA มองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่กองทัพจีนจะเข้ายึดครองไต้หวันอย่างกะทันหัน แต่จีนมีแนวโน้มที่จะทำตามโมเดลที่รัสเซียใช้ในการผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ในปี 2014 มากขึ้น


นั่นคือ การปฏิวัติอย่างช้า ๆ แบบลับ ๆ ในตอนแรก และตามมาด้วยการเคลื่อนไหวทางการทหารที่โจ่งแจ้งมากขึ้น เป็นไปได้ว่าจีนอาจจะประสานงานกับรัสเซีย เพื่อสร้างความยุ่งยากแก่สหรัฐฯมากขึ้น


◾◾◾

🔴 ไต้หวันกำลังจะถูกทดสอบ'


นอร์ม รูล อดีตผู้จัดการข่าวกรองแห่งชาติด้านอิหร่าน ระบุว่า ผู้คนควรตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาประเด็นจีนกับไต้หวันว่า 'ถ้าคุณไม่ยืนหยัดเพื่ออัฟกานิสถาน คุณจะยืนหยัดเพื่อประเทศอื่น ๆ หรือไม่'


เขามองว่า จีนตั้งใจที่จะทดสอบการแก้ปัญหาดังกล่าวของสหรัฐฯ ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้ส่งเครื่องบินรบจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ไปยังเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน (ADIZ) แม้จะไม่ได้ละเมิดน่านฟ้าของไต้หวัน ซึ่งขยายออกไป 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง แต่เป็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับเจตนาของจีนที่ชัดเจน


มาร์ค เคลตัน รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองของ CIA ระบุว่า การเข้าไปในเขตป้องกันทางอากาศรอบ ๆ ไต้หวันในแต่ละวัน เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนของจีนและทดสอบการแก้ปัญหาของตะวันตก


◾◾◾

🔴 สหรัฐฯ เองก็พลิกลิ้นเรื่องไต้หวัน


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศว่า สหรัฐฯ จะร่วมปกป้องไต้หวันหากจีนดำเนินการโจมตีเกาะแห่งนี้ สร้างความสับสนอย่างหนักต่อนโยบายของคณะทำงานของไบเดน ที่เพิ่งระบุไปเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันบริเวณช่องแคบไต้หวัน โดยย้ำว่า สหรัฐฯ ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักการ "จีนเดียว"


ขณะที่ทำเนียบขาวพยายามชี้แจงความคิดเห็นของไบเดนว่า "ไม่ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในนโยบายของเรา และนโยบายของเราไม่มีการเปลี่ยนแปลง"


ล่าสุด แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (26 ตุลาคม) เรียกร้องให้ไต้หวันเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมมากขึ้นในสหประชาชาติ หรือ UN พร้อมกับเรียกร้องประชาคมโลกให้ช่วยสนับสนุนผลักดันไต้หวันด้วย


ขณะที่บทบรรณาธิการประจำวันนี้ (27 ต.ค.) ของหนังสือพิมพ์ Global Times ของรัฐบาลจีน ตอบโต้การเรียกร้องของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ อย่างทันควัน กล่าวหาว่า เป็นการ “เปิดฉากรุกครั้งใหม่” ของสหรัฐฯ ต่อจีนในประเด็นไต้หวัน และถือเป็นการยกระดับเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันและจีน ระบุว่า จีนจะไม่ยอมถอย “แม้แต่ก้าวเดียว” และสมาชิกส่วนใหญ่ของ UN จะไม่ฟังคำเรียกร้องของสหรัฐฯ


หลายปีที่ผ่านมา จีนถูกกล่าวหาว่า ใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจ ที่มีอยู่เหนือประเทศสมาชิก UN หลายชาติ, บีบให้ประเทศเหล่านั้น ขัดขวางไต้หวัน ไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของ UN หรือเข้าร่วมการประชุมขององค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึง ไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มใหม่ ๆ


อย่างไรก็ตาม บลิงเคนไม่ได้กล่าวหาจีนเช่นนั้นและไม่ได้เอ่ยถึงจีนในแถลงการณ์ล่าสุดนี้แต่อย่างใด แต่ระบุชัดเจนว่า ไต้หวันถูกขัดขวางหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ในการพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของ UN และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ


บลิงเคนยืนยันด้วยว่า นโยบาย “จีนเดียว” ที่สหรัฐฯ ยึดมั่นมานานนั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยนโยบายจีนเดียวหมายถึงการที่สหรัฐฯ รับรองอธิปไตยของจีนเหนือกว่าไต้หวัน


ทั้งนี้ ไต้หวันเคยครองเก้าอี้ใน UN ในฐานะตัวแทนอย่างเป็นทางการของประเทศจีน แต่ถูกลงมติให้พ้นจากการเป็นตัวแทนของใน UN เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมปี 1971 และเปลี่ยนเป็นถือว่าจีนแผ่นดินใหญ่เป็นตัวแทนของประเทศจีนอย่างเป็นทางการใน UN เท่านั้น


อย่างไรก็ตาม CNN รายงานว่า สหรัฐฯ จัดหาอาวุธป้องกันไต้หวันให้ แต่ยังคงจงใจแสดงความคลุมเครือว่าจะเข้าแทรกแซงทางการทหาร ในกรณีที่จีนโจมตีหรือไม่ เนื่องจากภายใต้นโยบาย "จีนเดียว" สหรัฐฯ ยอมรับการเรียกร้องอธิปไตยของจีนเหนือไต้หวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง