รีเซต

ผู้ประกอบการจี้ สธ.เบรก กม. "ห้ามโฆษณาเหล้า-เบียร์" ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หวั่นธุรกิจเสียหายหนัก

ผู้ประกอบการจี้ สธ.เบรก กม. "ห้ามโฆษณาเหล้า-เบียร์" ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หวั่นธุรกิจเสียหายหนัก
มติชน
1 กรกฎาคม 2563 ( 14:28 )
209
ผู้ประกอบการจี้ สธ.เบรก กม. “ห้ามโฆษณาเหล้า-เบียร์” ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หวั่นธุรกิจเสียหายหนัก

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 1 กรกฎาคม กลุ่มตัวแทนสมาพันธ์ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราแห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอให้เลื่อนการพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการ หรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) รับหนังสือแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวแทนสมาพันธ์ฯ ที่ร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้าน ประกอบด้วย 1.สมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย 2.สมาคมผู้ผลิตไวน์ผลไม้และสุราพื้นบ้านไทย 3.ชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟต์เบียร์ 5.ตัวแทนชมรมผู้นำเข้าและจำหน่ายคราฟต์เบียร์ 4.ชมรมเบียร์บูเออร์แห่งประเทศไทย 5.ชมรมประชาชนเบียร์ 6.ชมรมผู้ค้าและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำเบียร์ และ 7.สมาคมศิลปะและวัฒนธรรมสุรา

ตัวแทนสมาพันธ์ฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากร่างประกาศดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ในฐานะผู้ประกอบการรายย่อยได้ตั้งข้อสังเกตดังนี้

1.ผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ต่อภาคธุรกิจ โดยปัจจุบันธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อยได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการถูกสั่งปิดกิจการห้ามขาย และในปัจจุบันแม้จะจำหน่ายได้แต่ยังคงมีมาตราการป้องกันต่างๆ จึงจำเป็นต้องสื่อสารกับผู้บริโภค หากประกาศฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบ จะยิ่งทำให้ประกอบธุรกิจได้ยากลำบากมากขึ้นเป็นการซ้ำเติมในเวลาที่ประสบปัญหาให้ผู้ประกอบการรายย่อยเดือดร้อนมากกว่าที่เป็นอยู่

2.นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายและแผนระดับชาติด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยี แต่การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ย่อมหมายถึงการจำกัดการทำธุรกรรมการสั่งซื้อและการขายด้วยวิธีใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่อีเมล์ แอพพิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ไลน์ เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม และระบบร้านค้าออนไลน์ของเว็บไซต์ต่างๆ ย่อมเป็นการจำกัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

3.การแข่งขันทางการค้า หากประกาศฉบับนี้ผ่านการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าได้แต่ผู้ผลิตรายเดิมสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้จากการรับรู้ที่มีอยู่แล้ว

4.มาตราการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้วหลายมาตราการทั้งการกำหนดเวลาขาย การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

5.การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง ร่างประกาศฉบับนี้จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก แต่ไม่มีการรับฟังความคิดเห็น หรือหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน กรมควบคุมโรคเลือกใช้วิธีห้ามจำหน่ายอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นทางออกที่ง่ายสำหรับหน่วยงานราชการ โดยไม่คำนึงถึงว่าจะสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการรายย่อยเพียงใด

6.การควบคุมโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 หนึ่งในความสำเร็จยับยั้งโรคดังกล่าว คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค จาการจับจ่ายซื้อสินค้า ในพื้นที่ขายสินค้าจริง มาเป็นการซื้อสินค้าทางออนไลน์แทน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศ 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล แต่การออกสินค้าใดๆ ก็ตามทางออนไลน์นั้น อาจทำให้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้า กลับไปสู่พฤติกรรมแพร่ระบาดโรคมากขึ้น คือการกลับไปซื้อสินค้าในพื้นที่จริงนั่นเอง ดังนั้น กฎหมายการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์จึงเป็นอุปสรรคต่อการรับมือและยั้บยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

7.ความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะกับเจ้าของธุรกิจรายย่อย จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปี พ.ศ.2563 มีนิติบุคคลผู้ขออนุญาตทำธุรกิจขายปลีกที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 735 ราย ยังไม่ร่วมผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกนับพันราย ซึ่งบางส่วนมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียว บางรายมีการจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างเดียว โดยในส่วนของเครื่อข่ายมีผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีหน้าร้านออนไลน์มากกว่า 50 ราย หากมีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการ หรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์รายได้ส่วนนี้จะหายไปมากกว่าปีละ 600-800 ล้านบาท

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาพันธ์ฯ จึงได้ทำหนังสือขอให้มีการชะลอหรือเลื่อนการพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ออกไปก่อน จนกว่าจะได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง