รีเซต

น้ำท่วมกระทบ "พื้นที่เกษตร" หลายล้านไร่ เร่งเยียวยาเกษตรกร

น้ำท่วมกระทบ "พื้นที่เกษตร" หลายล้านไร่ เร่งเยียวยาเกษตรกร
TNN ช่อง16
18 กันยายน 2567 ( 14:03 )
20

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง)เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “ยางิ”ในพื้นที่ภาคเหนือ และทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนและเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 5,205 ชุด และอาหารปรุงสุกพร้อมน้ำดื่ม 24,450 ชุด รวมทั้ง มอบหมายเจ้าหน้าที่ให้เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าทันที(ข้อมูล ณ 17 ก.ย. 67) ประกอบด้วย


1) สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 2,289 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 617 ในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยระดมเครื่องมือเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือในพื้นที่


2) เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชผักสำหรับแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรหลังน้ำลด เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ให้กับเกษตรกร 48,562 ราย 49,300 ซอง และเตรียมหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา 7,560 ขวด และเชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้ 14,840 กิโลกรัม


3) การให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ อาทิ อพยพสัตว์ จำนวน 589,984 ตัว หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 522,203 กิโลกรัม ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ (แร่ธาตุ/ยาปฏิชีวนะ วิตามิน) 22,742 ซอง รักษาสัตว์ 7,275 ตัว ถุงยังชีพสัตว์ 165 ถุง พร้อมทั้งจัดตั้งสถานที่พักพิงสัตว์ชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ปศุสัตว์ และสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยมีสัตว์แพทย์ และเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลสุขภาพสัตว์ให้ด้วย


4) ส่งเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ รุ่น AS 350 และ BELL 407 และเครื่องบิน ชนิด CN 1 ลำ CASA 2 ลำ CN235 1 ลำ เข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกองบัญชาการกองทัพไทย ในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย


5) จัดชุดเฉพาะกิจพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ เรือตรวจการประมง ช่วยนำส่งเสบียงอาหารและน้ำดื่ม ช่วยอพยพประชาชนและผู้ป่วยออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนสถานที่ราชการเป็นที่พักพิงชั่วคราว เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนและเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากอุทกภัย โดยสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้จำนวน 100 คน และที่จอดรถชั่วคราวจำนวน 200 คัน


6) มาตรการให้ความช่วยหลังน้ำลดด้านอื่น ๆ อาทิ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้หลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง


ด้าน นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ว่า จากสถานการณ์น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่จังหวัดหนองคายที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้มีมาตรการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ มีการเตรียมเครื่องมือ-เครื่องจักรเพื่อระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำล้นตลิ่งเหลือเพียง 60 ซม. และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานหลัก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด


สำหรับสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2567 - ปัจจุบัน โดยศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร พบว่า มีพื้นที่ประสบภัย 43 จังหวัด กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 27 จังหวัด และยังคงมีสถานการณ์อยู่ 16 จังหวัด


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการเร่งสำรวจความเสียหายภาคการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ย. 67)ประกอบด้วย 


1) ด้านพืชมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น ข้าว พืชไร่/พืชผัก และไม้ผลไม้ยืนต้น รวม 948,754.64 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 153,565 ราย 

2) ด้านประมงมีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น บ่อปลา บ่อกุ้ง รวม 9,538.98 ไร่ กระชัง 81,005 ตร.ม. เกษตรกรได้รับผลกระทบ 9,805 ราย 

3) ด้านปศุสัตว์ มีจำนวนสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น โค กระบือ สุกร แพะ/แกะ สัตว์ปีก รวม 3,568,339 ตัว เกษตรกรได้รับผลกระทบ 60,578 ราย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง