รีเซต

รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังเต็มพิกัด รับศึกหนักโควิดระบาดรอบ 3

รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังเต็มพิกัด รับศึกหนักโควิดระบาดรอบ 3
ข่าวสด
25 เมษายน 2564 ( 00:05 )
72
รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังเต็มพิกัด รับศึกหนักโควิดระบาดรอบ 3

รายงานเศรษฐกิจ

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังเต็มพิกัดรับศึกหนักโควิดระบาดรอบ 3 : ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุหลักพันคนต่อเนื่องหลายวัน และยอด ผู้เสียชีวิตที่ต่อเนื่องทุกวัน ทำให้การกลับมาระบาดหนักในรอบที่ 3 หรือจะเรียกว่าระลอกใหม่อะไรก็ตามที ส่งผลกระทบรุนแรงในทุกๆ ภาคส่วน

 

โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ที่ประเทศ ไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นหลังจากการซาไปของระลอกที่ 2

รอบใหม่นี้รุนแรงยิ่งกว่า 2 รอบแรกรวมกันด้วยซ้ำ

ขณะที่รัฐบาลเองก็โดนกระหน่ำจากหลายๆ ส่วน ยิ่งกับเรื่อง ‘วัคซีน’ ที่เชื่องช้าและพยายามกั๊กไม่ให้เอกชนมีส่วนร่วม

 

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนกังวลคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจาก 2 รอบแรกนั้นรัฐบาลอัดฉีดเงินที่ได้จากการกู้ เข้ามาพอสมควร แล้วตอนนี้จะเหลือกระสุนอยู่สักเท่าไหร่ และจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ระบุว่าการระบาดของโควิดระลอกใหม่นี้ คาดว่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลา 2 สัปดาห์ รัฐบาลอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน หากสถานการณ์สามารถควบคุมได้เร็ว และคลี่คลายในระยะเวลา 1 เดือน

 

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

 

“มองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังไม่มากนัก รัฐบาลเร่งหามาตรการต่างๆ มาเพิ่มเติมในการประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนของมาตรการเยียวยา กระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการที่เหมาะสม”

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่าคาดว่ามาตรการต่างๆ จะออกมาเป็นแพ็กเกจได้ในเดือน พ.ค. และจะมีผลเริ่มให้ประชาชนใช้ได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้

 

มีทั้งที่เป็นมาตรการใหม่ที่จะกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะมาตรการให้คนเอาเงินออมออกมาใช้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีเงินออมกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้คิดมาตรการออกมาแล้วจะเริ่มใช้ในเดือน มิ.ย.

 

มาตรการที่จะทำต่อเนื่องคือ ‘คนละครึ่ง’ ระยะที่ 3 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะเดินหน้าต่อตามที่ได้บอกไว้

 

ขณะที่มาตรการต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นมาเช่นการดูแลข้าราชการผู้มีรายได้น้อย มาตรการต่ออายุการเยียวยาก็ต้องมีบ้าง เช่น เราชนะ หรือ ม. 33 เรารักกัน ซึ่งหารือกันว่าสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ก็อาจจะต่ออายุออกไปโดยที่ประชาชนไม่ต้องแย่งกันลงทะเบียน

 

ส่วนจะเป็นรูปแบบเดิมหรือไม่ และจะให้มากแค่ไหนเรื่องนี้ให้กระทรวงการคลังไปดูในรายละเอียด แต่การออกมาตรการออกมาพร้อมๆ กันทำให้คนที่จะได้มาตรการมีหลายกลุ่มจะได้ช่วยกันใช้จ่ายให้เงินหมุนเวียน

 

“มาตรการที่จะออกมาในรอบนี้จากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ประมาณ 300,000 ล้านบาท ยังเพียงพอที่จะใช้ในการเยียวยาและทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังพอที่จะทำได้และเหลือ เงินอยู่ แต่หากเกิดการระบาดครั้งต่อๆ ไป ตรงนั้นรัฐฟบาลต้อง เตรียมที่จะกู้เงินแล้ว เพราะเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีเงินไว้ดูแลประชาชน”

 

ขณะที่ภาคเอกชนมองการระบาดรอบ 3 อย่างกังวล โดยเฉพาะ ‘วัคซีน’ ที่เชื่อว่าเป็นปัจจัยยับยั้งและสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น รัฐบาลยังทำงานอย่างล่าช้าเกินไป

ทำให้หอการค้าไทยจัดประชุมด่วน ระดมสมอง 40 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บริษัทใหญ่ในทุกภาคส่วนธุรกิจ ลุยวัคซีนทางเลือกให้ภาคเอกชน

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าจากการพูดคุยและร่วมวางแผนของ 40 ซีอีโอ ต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ โดยสนับสนุนภาครัฐให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนโยบายหลักของภารกิจ 99 วันแรกของการทำงานในหอการค้า ที่ต้องมีการ Connect the dots คือ ดึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย ให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

วัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนมิ.ย.นี้ ต้องเตรียมตัวและวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นหอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด

 

โดยจะเริ่มที่ กทม.ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นๆ พร้อมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม

 

“หอการค้าไทยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปีนี้ต้องบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 70% โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของ กทม. ต้องฉีดทั้งหมด 100% ภายในสิ้นเดือนมิ.ย. ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ต้องให้ได้อย่างน้อย 50,000 โดสต่อวัน”

 

นายสนั่นกล่าวและว่าภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมการทำงานของภาครัฐเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าว

 

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท) ระบุว่าที่ประชุมกรรมการบริหาร ส.อ.ท. หารือเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยยอมรับว่าขณะนี้รัฐยังมีปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีน ที่เป็นปัญหาคอขวดด้วยจำนวนวัคซีนที่ไม่พอเพียงต่อจำนวนประชากรในประเทศ และการฉีดวัคซีนที่ยังค่อนข้างล่าช้า

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี

 

เพราะบุคลากรที่สามารถฉีดได้ไม่พอเพียง (บุคลากร และสถานที่) จากปัจจุบันมีเพียงแพทย์และพยาบาลเท่านั้นที่สามารถฉีดวัคซีนได้ รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นหลังการฉีดวัคซีนด้วย เห็นว่าการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วและครอบคลุมจะช่วยป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศได้

 

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. ได้ร่วมกันนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้านจำนวนวัคซีนที่ไม่พอเพียงต่อจำนวนประชากรในประเทศ ว่าขอให้ภาครัฐเปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ

 

เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงวัคซีนด้วยความรวดเร็วรวมถึงลดภาระการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ

 

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ที่มีพื้นที่สำหรับจัดเป็นจุดฉีดวัคซีนเพิ่มเติมได้ที่ปั๊มน้ำมันบางจากทั่วประเทศ 1,200 กว่าสถานี โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยส.อ.ท.จะประสานงานกับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้จัดพื้นที่ภายในโรงงานให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน

 

ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ นาย สุพันธุ์ ระบุว่ากกร. มีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 ลงเหลือ 1.5-3% จากเดิมคาดไว้เติบโต 1.5-3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ

 

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน รวมถึงมาตรการเยียวยากว่า 2 แสนล้านบาทของรัฐบาล หากไม่มีเม็ดเงินเยียวยาเข้ามาอัดฉีดในระบบและการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวหรือมีจีดีพีเติบโตในอัตรา 0%

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดการณ์อยู่ที่ 1-1.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.8-1%

 

“กกร.ประเมินว่าการระบาดของ โควิด-19 ระลอกที่ 3 ในเดือนเม.ย.นี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3 เดือน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและกำลังซื้อ เพราะแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีกว่า 2 แสนล้านบาทเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ”

 

แต่งยังมีข่าวดีเล็กๆ คือภาคการส่งออกที่ปรับประมาณการอยู่ที่ 4-6% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดเติบโต 3-5% เพราะมองว่าไทยจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีขึ้น ตามรายงานขององค์การ การค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ประเมินปริมาณการค้าโลกปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 8%

 

การขยายตัวทางเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักของไทยปีนี้ มีทิศทางดีขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อน โดยเฉพาะสหรัฐ จีน และญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นแรงกดดันสำคัญต่อความสามารถของผู้ส่งออกของไทยในระยะต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง