รีเซต

รวมพันธุ์ "ทุเรียน" แพงที่สุด ในประเทศไทย

รวมพันธุ์ "ทุเรียน" แพงที่สุด ในประเทศไทย
TrueID
2 เมษายน 2564 ( 17:34 )
23.1K

ใกล้จะมาถึงแล้วกับฤดูกาล "ทุเรียน" ราชาผลไม้ ที่หลายๆคนเฝ้าคอยเพื่อที่จะได้ลิ้มรส พันธุ์ทุเรียนไทยจะมีชื่อคุ้นหูมาไม่กี่พันธุ์ เช่น ทุเรียนหมอนทอง, ทุเรียนชะนี, ทุเรียนป่าละอู แต่ทราบหรือไม่ว่ามีทุเรียน 6 ตระกูล 100 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีรสชาติและเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป บางพันธุ์อาจจะหายากมีน้อยจนต้องเข้าคิวรอซื้อด้วยราคาแสนแพง และก็มีอีกหลายพันธุ์ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ให้พวกเราได้ลองชิมกันในราคาไม่แพง และพันธุ์ทุเรียนไทยเป็นที่นิยมกันมาแล้วกว่า 600 ปี วันนี้ trueID พาคุณมารู้จักกับพันธุ์ทุเรียนไทยสายพันธุ์ไทยที่มีราคาแพง จะมีพันธุ์ใดบ้างไปดูกัน

 

  • ทุเรียนนนท์

ขึ้นชื่อว่าทุเรียนนนท์ย่อมมาพร้อมกับคำร่ำลือว่าแพงที่สุด กิโลกรัมละเป็นหมื่น ปัจจุบันนี้หารับประทานยากถึงยากที่สุด เพราะเหลืออยู่ไม่กี่สวน และจะมีคนรักทุเรียนไปจับจอง แต่เริ่มมีการนำกิ่งและพันธุ์ไปขยายปลูกที่อื่น ทำให้คนรักทุเรียนมีโอกาสรับประทานทุเรียนนนท์กันมากขึ้น ทุเรียนเมืองนนท์ เป็นทุเรียนสายพันธุ์โบราณ ปลูกได้เฉพาะในพื้นที่ท้องถิ่นแห่งนี้เท่านั้น พบมากที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ปกติราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท และไต่ขึ้นไปสูงถึง 2 หมื่น 5 พันบาท และ 5 หมื่นบาทเลยทีเดียว ตอนนี้ชาวสวนอนุรักษ์ทุเรียนเมืองนนท์ไว้ รวมกันแล้วราว 2,000 ไร่ จากเดิมเคยมีมากกว่า 6,000 ไร่ สำหรับจุดเด่นของทุเรียนนนท์มีความพิเศษไม่เหมือนที่อื่นๆ คือจะมีเปลือกที่บาง กลิ่นหอมไม่มีกลิ่นเหม็นฉุน ตัวเนื้อทุเรียนจะมีรสชาติที่หวานกลมกล่อมละมุมลิ้น และที่สำคัญไม่มีเสี้ยนอีกด้วย ซึ่งดิน จ.นนทบุรี นั้นจะมีความอุดมสมบูรณ์มีสารอาหารที่เหมาะสมต่อทุเรียนทำให้รสชาติของทุเรียนดีตามไปด้วย โดยทุเรียนขึ้นชื่อของที่สวนนั้นก็คือ ‘ก้านยาว’ ราคาขั้นต่ำสุดจะอยู่ที่ 5,000 บาท ขนาดกลาง 12,000 – 15,000 บาท สูงสุดอยู่ที่ 20,000 บาท ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกด้วยเช่นกัน รองลงมาจะเป็น ‘หมอนทอง’ ราคาจะอยู่ที่ 2,000 – 5,000 บาท

 

 

 

  • ทุเรียนหลงหลินลับแล

ทุเรียน “หลินลับแล” ต้นเดิมปลูกโดย นายหลิน บันลาด ชาวบ้านผามูบ ซึ่งนำเอาเมล็ดทุเรียนไม่ทราบพันธุ์ไปปลูก ณ บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล ต่อมาออกผล เกิดการกลายพันธุ์ มีรูปทรงแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ อย่างชัดเจน เช่น มีร่องพูชัดเจน คล้ายผลมะเฟือง เนื้อในละเอียดมากและมีสีเหลืองอ่อน รสชาติหอมมัน กลิ่นอ่อน  เมล็ดลีบ ปี 2520 เจ้าของได้ส่งพันธุ์นี้ประกวดในครั้งเดียวกับที่ทุเรียนหลงลับแลได้รับรางวัล แม้ไม่ได้รางวัลในครั้งนั้นก็ตาม หลินลับแลก็ยังได้รับความนิยมไม่น้อยกว่าทุเรียนหลงลับแล และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ปลูก จึงตั้งชื่อพันธุ์ว่า “ทุเรียนหลินลับแล” และยังมีชื่อเรียกตามพื้นที่ปลูกเดิมอีกชื่อหนึ่งว่า “ผามูบ 1” ทุเรียนอร่อยแห่ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ใครที่ได้ชิมทุเรียนป่าสายพันธุ์พื้นเมืองของที่นี่แล้วเป็นต้องติดใจในรสชาติ เนื่องจากรสชาติหวานอร่อย เนื้อเนียน ไม่เละ และมีกลิ่นอ่อนๆ ละมุนเหมือนกลิ่นดอกไม้ ไม่ฉุนแรง ว่ากันว่าทุเรียนหลงหลินลับแลราคาแพงลิบลิ่ว กิโลกรัมละ 350-500 บาท เนื่องจากทุเรียนทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ เป็นทุเรียนโบราณพื้นเมือง สามารถปลูกได้เฉพาะในภูมิประเทศหุบเขาที่นี่เท่านั้น นับตั้งแต่เริ่มปลูกจนโต และเก็บผลผลิตได้ ต้องใช้เวลา 8-10 ปี นอกจากนี้ขั้นตอนการเก็บและขนส่งก็ยากลำบาก เนื่องจากสวนทุเรียนแถบนี้ปลูกกันบนภูเขาสูง แต่ละปีชาวสวนทุเรียนเมืองลับแลมีรายได้กันเป็นหลักล้านเลยทีเดียว

 

 

 

 

  • ทุเรียนภูเขาไฟ

อำเภอกันทรลักษ์ เป็นต้นกำเนิดของทุเรียนภูเขาไฟ หรือเรียกได้ว่า เป็นตำนานของทุเรียนภูเขาไฟ  ซึ่งได้มีการนำทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี มาปลูกบนดินแดนภูเขาไฟเทือกเขาพนมดงรัก จังหวัดศรีสะเกษ  เป็นแห่งแรกที่อำเภอกันทรลักษณ์  เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษ  พื้นที่ปลูกทั้งหมดกว่า 2,500 ไร่  ทุเรียนที่ปลูกบนดินภูเขาไฟ  มีรสชาติ กรอบนอก  นุ่มใน และมีกลิ่นฉุนน้อยกว่าการปลุกในพื้นที่อื่นๆ จึงกลายเป็นที่มาของทุเรียนภูเขาไฟ ซึ่งกลายเป็นอัตลักษณ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาชีพเกษตรกรชาวสวนทุเรียนของจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ติดกับเขาพนมดงรัก ได้แก่ อ.กันทรักษ์ และอำเภอขุนหาญ  ปัจจุบันทุเรียนภูเขาไฟ ศรีสะเกษ (Lava Durian Srisaket) เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และเป็นที่ต้องการของตลาดในระดับบน  หรือตลาดพรีเมียม (Premium)

ทุเรียนปลูกด้วยดินภูเขาไฟ จากจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง เริ่มปล่อยออกจากสวนตั้งแต่เดือนมีนาคม ด้วยราคากิโลกรัมละ 300-500 บาท  

 

 

 

 

  • ทุเรียนป่าละอู

ทุเรียนหมอนทองป่าละอู หรือ ทุเรียนป่าละอู (PaLa-U Durian) คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในพื้นที่ ป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เฉพาะตัว มีรสหวาน เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งมีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นไม่รุนแรง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จนได้รับการขึ้นทะเบียน GI* จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ 54100075 ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกที่ป่าละอูมีรสชาติดีกว่า หอมละมุนกว่า และเนื้อดีกว่าทุเรียนหมอนทองที่อื่น ซึ่งอาจเป็นเพราะดิน น้ำ และอากาศเหมาะสม

ราคาทุเรียนป่าละอู  เริ่มต้นกิโลกรัมละ 280-300 บาท มีการติดบาร์โค้ดรับรองจากอำเภอหัวหิน จัดทำโดยเกษตรอำเภอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สามารถมาซื้อที่สวนได้ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม

 

 

 

 

  • ทุเรียนพวงมณี

ทุเรียนพันธุ์พวงมณีเป็นทุเรียนพื้นเมืองของภาคตะวันออก ที่ถึงแม้จะไม่ได้รับความนิยมเท่าทุเรียนพันธุ์อื่นๆ แต่ในช่วงหลังๆ ก็เริ่มมีคนให้ความสนใจกันมากขึ้น เพราะมีรสชาติที่อร่อยไม่แพ้ใคร ลักษณะเด่นของทุเรียนพวงมณีคือมีผลที่เล็กกว่าพันธุ์อื่นๆ จนเห็นได้ชัด มีรสชาติหวานจัด เนื้อละเอียด สีเหลืองเข้ม แต่ข้อเสียของพวงมณีคือมีเนื้อที่ค่อนข้างน้อย หาซื้อยาก และราคาสูงกว่าก้านยาว ทุเรียนพวงมณีที่ออกมาจากสวนพวงมณี ราคากิโลกรัมละ 180-200 บาท และปัจจุบันมีสวนอื่นๆ นำไปเพาะพันธุ์ คาดว่าอนาคตจะราคาถูกลงเมื่อต้นทุเรียนพวงมณีออกผลเพิ่ม

 

 

 

 

  • ทุเรียนหมอนทอง

ทุเรียนหมอนทองราคากิโลกรัมละ 150 บาท ทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เนื่องจากหาซื้อง่าย ราคา ไม่แพงมาก มีกลิ่นไม่แรงมาก ผลมีสีเหลืองอ่อน เนื้อเยอะรสชาติอร่อย หวานมันกำลังดี และยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถ้าหากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็งได้ด้วย ทุเรียนหมอนทองที่ดีจะต้องมีผลขนาดใหญ่รูปร่างหนามแหลมตรง น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม เนื้อละเอียดและแห้ง ไม่แฉะติดมือ มีเมล็ดเล็กและลีบ

 

*หมายเหตุ

GI (Geographical Indication) คืออะไร ?
โดยสินค้าเกษตร GI คือพืชที่เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indication) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา แสดงถึงแหล่งเพาะปลูกที่เจาะจงแค่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นสินค้าเด่นของชุมชน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้มุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อให้สินค้าของเกษตรกรกลายเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและรสชาติของผลไม้ไทย

 

 

 

ข้อมูล : เทคโนโลยีชาวบ้าน  , M.I.W. Food , สภาเกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญ

ภาพโดย Christopher Jayanata จาก Pixabay 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง