องค์การ NOAA ของสหรัฐฯ บินส่งโดรนฝ่าเข้าใจกลางตาพายุเฮอริเคน
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเจอกับมรสุมครั้งใหญ่จากพายุเฮอริเคนเอียน ที่พัดผ่านพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ โนอา (NOAA) จึงได้ทำภารกิจปล่อยโดรนเข้าไปใจกลางพายุ เพื่อเก็บข้อมูลกลับมา
โดรนลำนี้ มีชื่อว่า อัลทิอัส-600 (ALTIUS-600) ซึ่งเป็นโดรนขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผลิตโดย บริษัท แอเรีย วัน (AREA-I) ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องบินตรวจวัดอากาศของโนอา ดับเบิลยูพี-ทรีดี โอไรออนส์ (WP-3D Orions) ที่มีชื่อเล่นว่า เคอร์มิต (Kermit) ระหว่างกำลังบินกลางอากาศ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เครื่องบินถูกเขย่าด้วยกระแสลมปั่นป่วนรุนแรงจากพายุเอียน (Ian) ที่ขึ้นชื่อถึงความรุนแรงเป็นอันดับต้น ๆ ของปีนี้
ที่มาของรูปภาพ NOAA
สำหรับโดรนอัลทิอัส-600 ออกตัวด้วยการปล่อยจากท่อในเครื่องบินกลางอากาศ สร้างโดยบริษัทแอเรีย วัน (AREA-I) โดยผู้ควบคุมปฏิบัติการครั้งนี้คือ โจ ซิโอเน (Joe Cione) หัวหน้านักอุตุนิยมวิทยาด้านเทคโนโลยีใหม่ของโนอา และทีมงานอีกจำนวนหนึ่ง เดินทางไปกับนิก ลิชชินี (Nick Liccini) กับแพทริค โซซา (Patrick Sosa) วิศวกรจากบริษัท แอเรีย วัน (AREA-I) โดยทั้ง 2 คน ทำหน้าที่นำทางโดรนเข้าไปใจกลางตาพายุเฮอริเคนเอียน (Ian) เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญ เช่น เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุ
อัลทิอัส-600 ยังมีความสามารถบินต่อเนื่องสูงสุดได้ 4 ชั่วโมง ในระยะทางถึง 440 กิโลเมตร และยังสามารถบินได้ในความสูงระดับต่ำสุดที่ 30-100 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายเกินไปสำหรับอากาศยานที่มีคนขับ โดยสมาชิกองค์การโนอา อยากรู้ว่า ในระดับความสูงนี้ที่บริเวณใจกลางพายุ จะมีสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น กำลังลมเป็นอย่างไร ทีมจึงต้องมีการเข้าไปวัดในสถานที่จริง และโดรนลำนี้คือคำตอบที่พวกเขาเลือกใช้ และหลังจากเข้าไปในตาพายุ โดรนอัลทิอัส-600 ยังคงบินต่อไปราว 2 ชั่วโมงนับตั้งแต่การปล่อยตัว และเก็บข้อมูลสำคัญส่งไปยังเครื่องบินเคอร์มิต (Kermit) ที่อยู่ห่างออกมา 230 กิโลเมตรได้สำเร็จ
ที่มาของรูปภาพ Area I
สำหรับทีมงานของโนอา เคยใช้โดรนบินเข้าไปฝ่าใจกลางพายุเฮอริเคนมาแล้ว 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งใช้โดรน WP-3D และอีกหนึ่งครั้งใช้โดรน Gulfstream IV-SP
ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com
ที่มาของรูปภาพ NOAA