รีเซต

โควิด-19 : มาตรการช่วยเหลือประชาชน จากไวรัสโคโรนาจะกลายเป็นนโยบายถาวรได้หรือไม่

โควิด-19 : มาตรการช่วยเหลือประชาชน จากไวรัสโคโรนาจะกลายเป็นนโยบายถาวรได้หรือไม่
ข่าวสด
24 เมษายน 2563 ( 01:36 )
84

 

โควิด-19 : มาตรการช่วยเหลือประชาชน จากไวรัสโคโรนาจะกลายเป็นนโยบายถาวรได้หรือไม่ - BBCไทย

ในแง่หนึ่ง การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก แต่ดูเหมือนว่า คนที่มีฐานะดีได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้มีรายได้น้อย บางคนกักตัวอยู่ในสวนหลังบ้านอันแสนร่มรื่น ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยได้แต่มองโลกภายนอกจากหน้าต่างในอะพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ

งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าคนที่ตกงานส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวและผู้หญิงซึ่งมีรายได้น้อยกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็ส่งผลกระทบต่อคนผิวสีมากมายอย่างเห็นได้ชัด

การล็อกดาวน์ทำให้ลูกจ้างรายวันขาดรายได้เลี้ยงชีพ ไม่แปลกเลยที่วิกฤตอย่างนี้สามารถทำให้คนที่จนอยู่แล้วยิ่งจนเข้าไปอีก

แต่วิกฤตก็เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วย และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 เป็นที่มาของโครงการสวัสดิการในบราซิล และวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียปลายชวง 1997/98 นำไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทย

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ระหว่าง 1929 ถึงปลาย ทศวรรษ 1930 เป็นที่มาของระบบประกันสังคมในสหรัฐฯ ส่วนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่มาของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ในสหราชอาณาจักร

แล้ววิกฤตในครั้งนี้จะทำให้โลกมีความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้นไหม

Getty Images

เสียหายหลายล้าน

ตัวอย่างหนึ่งคือ แกรวิที (Gravity) บริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐฯ เป็นบริษัทที่จัดการธุรกรรมบัตรเครดิตของบริษัทขนาดเล็กและกลาง มีรายได้จากค่าบริการ

เมื่อปี 2015 แดน ไพรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ยอมลดรายได้ตัวเองถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้รายได้ขั้นต่ำของพนักงานอยู่ที่ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นโยบายนี้ประสบความสำเร็จมาก พนักงานบริษัทเพิ่มขึ้น 2 เท่า พนักงานมีความสุขและก็ทำงานหนักขึ้น พวกเขาสามารถซื้อบ้านและมีลูกเพิ่มได้ กำไรบริษัทก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

แต่แล้ววิกฤตไวรัสโคโรนาก็เกิดขึ้น ซีแอตเทิลเป็นเมืองแรก ๆ ในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบ ลูกค้าหลายรายของแกรวิทีคือธุรกิจบาร์ ร้านค้า และร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้น

ไพรซ์ บอกว่ารายได้ต่อเดือนของบริษัทลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากบริษัทไม่รีบทำอะไรสักอย่าง พวกเขาจะขาดทุนและล้มละลายภายในไม่กี่เดือน

ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่อยากจะเพิ่มค่าบริการกับลูกค้า เพราะรู้ว่าพวกเขากำลังลำบากแค่ไหนแล้ว

และแล้วบริษัทก็พบทางแก้ปัญหาอันน่าทึ่ง

Getty Images

คนสำคัญกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การสั่งล็อกดาวน์ ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายความว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของประชาชนมากกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

อูโก เจนทิลีนี ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือทางสังคมของธนาคารโลกหวังว่ามาตรการล็อกดาวน์จะสิ้นสุดในเวลาอันสั้น แต่ก็อยากให้ผลสืบทอดจากวิกฤตครั้งนี้จะยังคงดำรงต่อไป

ระหว่างเกิดวิกฤต เจนทิลีนีบอกว่ามีเรื่องให้เขามีความหวังมากมาย มีประกาศโครงการช่วยเหลือคนจนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาเพิ่มทุกวัน งานวิจัยของเขาชี้ว่าโครงการให้เงินช่วยเหลือต่าง ๆ น่าจะช่วยคนได้ถึง 662 ล้านคนทั่วโลก เขาบอกว่ารัฐบาลบางประเทศทำงานอย่างหนักเพื่อให้มั่นใจว่าเงินจะไปถึงกลุ่มคนเหล่านั้น

ทางการโมร็อกโกและโคลอมเบียทำวิดีโอลงยูทิวบ์ช่วยสอนวิธียื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือ ที่ยูกันดา ผู้หญิงวัยรุ่นบางคนที่ก่อนหน้านี้ต้องเข้ารับการฝึกฝนเพื่อจะได้รับทุนช่วยเหลือ สามารถขอรับเงินได้เลยตอนนี้โดยไม่ต้องทำอะไร

ทางการอินเดียบอกว่าจะจ่ายเงินให้คนถึง 27.5 ล้านคน ที่สมัครในโครงการช่วยเหลือของรัฐ ตราบใดที่พวกเขาไม่ไปทำงาน ส่วนกรุงโบโกตาของโคลอมเบียจ่ายเงินให้ครัวเรือน 5 แสนครัวเรือนหากพวกเขาตกลงที่จะเว้นระยะห่างทางสังคมและไม่ก่อเหตุความรุนแรงในบ้าน

เหล่านี้เป็นเพียงไม่กี่โครงการจากหลายร้อยโครงการที่เพิ่งประกาศออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์

เจนทิลีนีบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าโครงการเหล่านี้มีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่หวังว่าเมื่อระบบเหล่านี้เข้าที่เข้าทางแล้ว ทางการจะให้โครงการเหล่านี้ดำเนินไปอย่างถาวร

ความคิดสุดโต่ง

ดอโรธี เกอร์เรโร นักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมด้านสังคมและสภาพภูมิอากาศจากกลุ่มโกลบอลจัสติสนาว (Global Justice Now) บอกว่าเธอเป็นห่วงคนจนมาก และระบบเศรษฐกิจโลกต้องพบกับความท้าทายอย่างมาก

"ก่อนหน้านี้ คนบอกกันว่าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด ระบบตลาดจะจัดหา ปรับเปลี่ยน และก็จะแก้ปัญหาด้วยตัวมันเอง"

แต่เธอบอกว่ามาตรการที่ใช้อยู่ตอนนี้ประเทศส่วนใหญ่ไม่ใช่ผลจากกลไกการตลาด แต่เป็นการจัดการของรัฐบาลเอง

นี่ทำให้เธอคิดว่าระบบรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income) น่าสนใจมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นความคิดที่สุดโต่งมาก

Getty Images

แม้แต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ก็ยังทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ในโอกาสวันอีสเตอร์ที่ผ่านมาว่า "นี่อาจเป็นเวลาที่เราควรพิจารณาเรื่องระบบรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการยอมรับและสรรเสริญงานที่สำคัญและมีเกียรติที่คุณทำ"

เกอร์เรโร มองว่า เป็นเรื่องดีที่งานที่เคยถูกมองว่าใช้ทักษะน้อยอย่างเช่น ส่งของ จัดของบนชั้นสินค้า หรือเก็บผักผลไม้ กลายเป็นงานที่สำคัญมากต่อการอยู่รอดของพวกเรา

"ที่อิตาลี พนักงานเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้าง ขอมาตรการป้องกันที่ดีขึ้น นี่ไม่ควรเป็นเรื่องของการให้เพื่อการกุศล"

"ฉันมาจากฟิลิปปินส์ มีพยาบาลฟิลิปปินส์หลายคนมากที่เสียชีวิต นี่จะส่งผลให้คนเรียกร้องค่าจ้างสูงขึ้นและก็ให้มาตรการป้องกันที่ดีขึ้นด้วย"

และนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตไข้หวัดใหญ่สเปน ทำให้อำนาจต่อรองมาอยู่ในมือของลูกจ้างแทนผู้จ้าง

และผู้จ้างบางรายก็ไม่ได้ติดขัดอะไร

ใครเป็นคนจ่าย

กลับมาที่เรื่องของบริษัทแกรวิทีในซีแอตเทิล นายไพรซ์ ประธานบริหารของบริษัท ปรึกษากับพนักงานว่าจะช่วยกันได้อย่างไรเมื่อบริษัทขาดรายได้ไป 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บางคนเสนอว่าให้ตัดเงินเดือนพนักงานทุกคน แต่นั้นก็ไม่ยุติธรรมนัก พนักงานบางคนต้องดูแลคู่ครองที่เพิ่งตกงาน บางคนเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

ในที่สุดพวกเขาก็ตกลงกันได้ว่าจะให้พนักงานตัดเงินเดือนด้วยความสมัครใจและจะไม่มีการเปิดเผยว่าใครยอมตัดเงินเดือนตัวเอง

นายไพรซ์ บอกว่าเขาตะลึงในความจริงใจของคนมาก ภายใน 2 สัปดาห์ บริษัทลดรายจ่ายได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Getty Images
ครอบครัวในสหรัฐฯ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องอาหารการกินมากขึ้นเรื่อย ๆ

นี่ไม่ใช่วิธีดำเนินธุรกิจแบบปกติ

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซีอีโอบริษัทส่วนใหญ่ถูกสอนมาว่าให้ลดพนักงานก่อน

ในทวิตเตอร์ นายไพรซ์เขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ทุกวันว่าให้เงินช่วยเหลือแต่บริษัทใหญ่ ๆ และกลายเป็นบริษัทเล็ก ๆ ต้องแบกรับภาระ

นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมในสังคมหลายคนบอกว่า สิ่งที่รัฐบาลทำในช่วงหลายเดือน และหลายปี ต่อจากนี้จะสำคัญมาก จะกำหนดว่าคนรวย คนจน หรือคนชั้นกลางจะเป็นผู้แบกรับภาระของความถดถอยทางเศรษฐกิจ

Getty Images
เฟ็มค์ ฮัลซ์มา นายกเทศมนตรีกรุงอัมสเตอร์ดัม บอกว่าเมืองจะเลิกใช้การเติบโตเศรษฐกิจเป็นมาตรวัดความเจริญก้าวหน้า

แอนดรูว์ ซัมเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า มันเป็นไปได้สองทาง ในบางประเทศ คนที่มีมากกว่าอาจจะสนใจที่จะจ่ายภาษีมากกว่า หรือไม่โลกก็จะแบ่งแยกราวกับเป็นยุคแห่งการแบ่งแยกสีผิว (apartheid) ไปเลย

เจสัน ฮิกเคิล นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องเศรษฐกิจ บอกว่า เราต้องการระบบเศรษฐกิจที่ให้ทั้งสวัสดิการสังคมและความยั่งยืนทางระบบนิเวศ และหากมันให้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก็ต้องถามตัวเองแล้วว่าจะทำไปเพื่ออะไร

ตัวอย่างหนึ่งคือ เฟ็มค์ ฮัลซ์มา นายกเทศมนตรีกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่บอกว่าเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์จะเลิกใช้การเติบโตเศรษฐกิจเป็นมาตรวัด ความเจริญก้าวหน้า แต่ดูจากความเป็นอยู่ของคนในเมืองแทน

"ไม่เคยมีใครในวงการการเมืองสายหลักเสนอความคิดนี้มาก่อน" ฮิกเคิล กล่าว "มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง