ตั้งบอร์ดเกาะติดเรตติ้ง ศึกษาบอนด์เปลี่ยนมือ
#สบน. #ทันหุ้น – ผอ.สบน. โฟกัสเรตติ้งไทย ป้องกันต้นทุนการเงินสูง รับลูกขุนคลัง ตั้งบอร์ดร่วม 8หน่วยงานแจงบริษัทเรตติ้ง ย้ำเสถียรภาพการคลังยังแข็งแกร่ง ระดับหนี้ไม่เกินเพดาน เตรียมรีไฟแนนซ์ยืดอายุหนี้หลังดอกเบี้ยระยะสั้นกับระยะยาวไม่ต่างกัน หวังไทยถูกปรับเพิ่มเรตติ้ง พร้อมศึกษาออกบอนด์จูงใจเปลี่ยนมือ เพิ่มสภาพคล่อง
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยกับ “ทันหุ้น” ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับและติดตามการให้ข้อมูลและประสานงานกับสถาบันการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง เพื่อให้ข้อมูลมีความเป็นปัจจุบันและครบถ้วน โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม 7-8 หน่วยงาน
นายพชร ยืนยันว่า เสถียรภาพการของประเทศมีความแข็งแกร่ง แต่การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะช่วยชี้แจงบริษัทเครดิตเรตติ้ง ที่ให้ความสำคัญกับเกาะติดในเชิงลึกเกี่ยวกับเสถียรภาพทางด้านการเมือง ซึ่งการที่บริษัทจัดอันดับเครดิตให้เรตติ้งไทยดีก็จะทำให้ต้นทุนลดลง แต่หากเรตติ้งหรือมุมมองต่ำลงก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงในด้านนโยบายของไทยให้บริษัทเรตติ้งเข้าใจ และนำมาซึ่งการคงเรตติ้งที่ BBB+ มุมมอง มีเสถียรภาพ
“จากข้อสังเกตสถาบันเรตติ้ง ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพรัฐบาล ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อให้เป็นปกติ อย่าทำอะไรที่นอกเหนือกฎหมาย ซึ่งเครดิตเรตติ้งเขาเฝ้าติดตามใกล้ชิดและลงลึกทางการเมือง เช่น ประชาชนแตกแยกไหม เป็นต้น ที่ผ่านมาได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนโยบายรัฐบาลทำให้มีการคงมุมมองมีเสถียรภาพไว้ หากมีการแค่ลดมุมมองก็จะทำให้ต้นทุนเราเพิ่มขึ้นเป็นแสนล้านบาท”
เขาบอกว่า อันที่จริงไทยควรได้ปรับขึ้นเครดิตด้วยซ้ำ แต่มาสะดุดช่วงโควิด ทำให้ฐานะการคลังต่ำมาก วันนี้อยู่ในช่วงที่ฟื้นขึ้นมาอย่างช้าๆ โดยพื้นฐานเราดีกว่าประเทศอื่น ถ้ารักษาสถานภาพแบบนี้ไปได้ เครดิตเรตติ้งน่าจะดีขึ้น
@ เรตติ้งไทยดี
ผอ.สบน.กล่าวถึงสถานการณ์หนี้สาธารณะของไทย แม้ตัวเลขหนี้สาธารณะที่อยู่ในจำนวน 15 ล้านล้านบาท ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่สูง แต่เครดิตเรตติ้งให้เรื่องเสถียรภาพการคลังเราดีมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า หนี้ต่างประเทศเรามีน้อยมากเพียง 1% ของสัดส่วนหนี้สาธารณะทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 64-65% ต่อจีดีพี แต่เมื่อประเมินถึงแผนการคลังระยะปานกลาง 4 ปีข้างหน้า ก็จะพบว่า ระดับสูงสุดของหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ประมาณ 67% ต่อจีดีพี ในปี 2569 จากนั้น จะทยอยลดลง จากนั้น จะทยอยลดลง ดังนั้นระดับหนี้สาธารณะจะไม่เกินเพดานการก่อหนี้ที่ 70% ต่อจีดีพี และหากว่า จีดีพีของเราขยายตัวขึ้น การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลดีขึ้น ระดับหนี้สาธารณะก็จะลดลง
“โชคดีที่เรามีกฎหมายการคลังค่อนข้างเข้มแข็งและรอบคอบมาก การก่อหนี้หรือการทำงบประมาณขาดดุลเราทำได้ตามกฎหมาย หรือ มีขอบเขต 20% ของงบประมาณรายจ่าย หรือ 80% ของรายจ่ายเงินกู้ เราล็อกชั้นแรกไว้แล้ว ล็อกชั้นที่ 2 คือ ไม่ให้เกิน 70% ฉะนั้น ล็อกชั้นแรกน่ากลัวสุด ทำเกินไม่ได้ ผิดกฎหมายเลย ฉะนั้นปลอดภัย”
นายพชร กล่าวด้วยว่า แม้ว่า ระดับหนี้ของเราอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่สบน.เองก็พยายามที่จะยืดอายุของหนี้ออกไปให้นานมากขึ้น จากปัจจุบันอายุของหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 9 ปี จากระยะเวลาของหนี้ที่สูงสุด 50 ปี เนื่องจาก ขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวไม่ต่างกันมากนัก หากเราขยายอายุหนี้ให้ยาวมากขึ้น จะส่งผลดีต่อเครดิตเรตติ้งและส่งผลให้เอกชนก็จะมีต้นทุนกู้ถูกลง ดังนั้น เราจึงพยายามรีไฟแนนซ์หนี้ให้ยาวมากขึ้น
ทั้งนี้ ต้นทุนการกู้เงินขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2.2% บวกลบนิดหน่อย ถ้าอิงตามแนวโน้มตลาดโลก เดิมดอกเบี้ยควรจะต่ำลง แต่เนื่องจากมีการเลือกประธานาธิบดีใหม่ นโบบายสหรัฐเป็นเรื่องที่เราต้องเฝ้าติดตาม แทนที่จะลดลงเร็ว ก็ลดลงช้าหน่อย และสถาบันจัดอันดับเครดิต ทุกคนให้น้ำหนักเรื่องนี้มาก ฉะนั้นทุกคนพูดตรงกัน ลดลงแน่ แต่จะลดลงช้ากว่าเดิม ต้องประเมินเป็นระยะ
@ ศึกษาบอนด์จูงใจเปลี่ยนมือ
นายพชร กล่าวด้วยว่า สบน. เองได้มีการหาศึกษาการออกพันธบัตรเพื่อจูงใจให้มีการเปลี่ยนมือ เป็นการเพิ่มสภาพคล่อง จากปกติแล้วการออกพันธบัตรจะมีการซื้อและเก็บไว้ยาว เสมือนดูดสภาพคล่องออกจากตลาด ซึ่งก็จะมีการนำนวัตกรรมมาใช้ ทำให้พันธบัตรที่ไซซ์ใหญ่เล็กลง สามารถซื้อขายในตลาดรองง่าย โดยอาจจะเริ่มที่การออกพันธบัตรออมทรัพย์และมีการจูงใจให้มีการเปลี่ยนมือก่อน