รีเซต

โควิด-19 : 'เราไม่ทิ้งกัน' อาจยังไม่เป็นจริง เมื่ออาชีพหลักคนตาบอดกระทบหนัก

โควิด-19 : 'เราไม่ทิ้งกัน' อาจยังไม่เป็นจริง เมื่ออาชีพหลักคนตาบอดกระทบหนัก
บีบีซี ไทย
18 เมษายน 2563 ( 15:24 )
315
1
โควิด-19 : 'เราไม่ทิ้งกัน' อาจยังไม่เป็นจริง เมื่ออาชีพหลักคนตาบอดกระทบหนัก
Getty Images
ปัจจุบันร้านนวดถูกสั่งปิดชั่วคราวเนื่องจากเป็นหนึ่งในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยตั้งแต่ต้นปีนี้ ที่นำมาสู่มาตรการควบคุมการเคลื่อนที่ ส่งผลให้ประชาชนหลากหลายอาชีพขาดรายได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือนแล้ว แม้แนวโน้มผู้ป่วยใหม่ค่อนข้างคงที่ แต่ยังไม่มีการออกมาตรการผ่อนคลายข้อบังคับ

แม้ว่าประชาชนบางรายจะเปลี่ยนอาชีพ เพื่อหารายได้ปะทังชีวิตในช่วงวิกฤตนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้แบบทันทีทันใด หนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้นคือคนพิการ โดยเฉพาะคนตาบอด ที่อาชีพหลักซึ่งมีเพียงไม่กี่ทางเลือกของพวกเขา "ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง"

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ระบุว่าคนตาบอดมีอาชีพหลักอยู่ 3 อย่าง คืออาชีพนวดแผนไทย ประมาณ 30,000 คน อาชีพค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ประมาณ 10,000 คน และอาชีพนักร้องนักดนตรีในที่สาธารณะ ประมาณ 5,000 คน

"ทั้งสามอาชีพหลักของคนตาบอด ณ ปัจจุบัน เราได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากสถานการณ์โควิดฯ นี้" ต่อพงศ์ กล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมอธิบายถึงว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มติเลื่อนการออกสลากสามงวด รวมถึงการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เป็นสาเหตุที่ทุกอาชีพหลักของคนตาบอดได้รับผลกระทบ

Getty Images
คนตาบอดที่ทำอาชีพร้องเพลงได้รายได้น้อยลงจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

"รัฐสั่งปิด แต่ไม่บอกว่าจะช่วยเหลืออะไร"

กระดาษเอสี่พิมพ์คำว่า "ปิดชั่วคราว" พร้อมเบอร์โทรศัพท์ถูกติดไว้บนประตูเหล็กหน้าร้านนวดแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ปกติเบอร์นี้จะมีเสียงเรียกเข้าจากลูกค้าตลอดทั้งวันเพื่อนัดเวลานวด กลับกลายเป็นนาน ๆ ครั้ง ถึงจะมีสายเรียกเข้าโทรศัพท์มาถามว่า "เมื่อไหร่จะเปิด"

นี่เป็นคำตอบที่ น.ส.พัชรี พรหมอินทร์ เจ้าของร้านนวดแห่งนี้ไม่สามารถตอบลูกค้าได้ เนื่องจากกิจการของเธออยู่ภายใต้คำสั่งปิดชั่วคราวมาเกือบเดือนแล้ว และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาเปิดได้ตามปกติ แม้ว่าสถาณการณ์การแพร่ระบาดจะทยอย "ดีขึ้น" ในความหมายของการมีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่เพิ่มน้อยลง

นอกเหนือจากการทำงานแล้ว วิถีชีวิตของ พัชรี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เหตุผลว่า "มองไม่เห็น" ทำให้การไม่ค่อยออกจากบ้านของเธอเป็นปกติ นอกจากนั้นเธอยังคงมอบที่พักอาศัยและอาหารการกินให้กับลูกน้องของเธอสองคน แม้จะสวนทางกับรายได้ที่ชะงักลง ขณะที่ลูกน้องอีกสองคนขอเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากไม่มีงานให้ทำ

"ถามว่าร้านพี่นี่สั่งปิด ถ้าพี่เปิดพี่มีความผิดถูกไหมคะ บางอาชีพอาจจะยังทำได้แต่มีรายได้น้อยลง แต่ถามว่าหมอนวดและอาชีพอื่น ๆ ที่หน่วยงานรัฐสั่งปิด แต่หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้บอกว่าจะช่วยเหลืออะไร...ไม่รู้เขาให้ความสนใจน้อย หรือว่าจริง ๆ เขาไม่เข้าใจคนพิการ" หญิงวัย 43 ปี กล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมยอมรับว่านี่คือเหตุการณ์ที่วิกฤตที่สุดตั้งแต่เปิดร้านมา 15 ปี

"รัฐบาลต้องจริงใจกับประชาชน"

นายอำนวย สุวรรณรังสิกุล ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น "คนบกพร่องทางการมองเห็น" บอกกับบีบีซีไทยถึงการตัดสินใจประกอบอาชีพเจ้าของกิจการร้านนวดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ว่า "อยากทำเยอะแยะเลยครับ แต่ทางเลือกของอาชีพเรามีเท่านี้"

ร้านนวดของเขาเป็นหนึ่งในกิจการที่จังหวัดสมุทรปราการสั่งปิดเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. ทำให้รายได้ของเขากลายเป็นศูนย์นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา จากที่ปกติมีลูกค้าราว 3-4 คนต่อวัน ทุกวันนี้เขาทำได้เพียง "อยู่นิ่ง ๆ เลยครับ"

"ถ้าใช้ประหยัด ๆ มันก็พออยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่สองเดือนก็แย่แล้วนะครับ เพราะค่าใช้จ่ายเราจ่ายทุกวัน กินจ่ายอะไรก็ต้องพยายามประหยัด" ชายวัย 52 ปีเล่าถึงผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นพร้อมภาวนาให้ทุกอย่างสิ้นสุดภายในเดือนพฤษภาคม

แม้ว่าพิการทางการมองเห็น แต่เทคโนโลยียังพอให้ อำนวย กรอกประวัติและอาชีพของเขาซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งปิด บนเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" เพื่อขอรับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทได้ แต่ไม่นานเขาก็ได้รับข้อความปฏิเสธ โดยมีเหตุผลว่าอาชีพของเขาไม่เข้าเกณฑ์รับเงินเยียวยาเพราะเป็น "เจ้าของธุรกิจ"

"ก็งงว่าทำไมผมถึงกลายไปเป็นนักธุรกิจ เรามีความรู้สึกว่าภาครัฐทำในสิ่งที่เกิดความผิดพลาดแล้วไม่พยายามที่จะแก้ไขปรับปรุง...รัฐบาลต้องจริงใจกับประชาชน เพราะว่าคุณขอความร่วมมือ...เวลาคุณเยียวยา ผมมองว่าเหมือนคุณไม่ค่อยจริงใจอะ" เจ้าของร้านนวดซึ่งได้รับผลกระทบกล่าว

ก่อนหน้านี้ บีบีซีไทยติดต่อนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสอบถามเรื่องหลักเกณฑ์อาชีพของผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ

นายจุติอธิบายว่าใครก็ตามที่ถือสัญชาติไทยและอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปและได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็สามารถลงทะเบียนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะทำอาชีพอิสระ จะมีนายจ้างหรือไม่ก็ตาม

"เราไม่ได้มีข้อกำหนดเลยว่าจะต้องมีหนังสือรับรองจากนายจ้างหรือไม่ ถ้าคุณเป็นคนไทยตามเงื่อนไข คุณก็ลงทะเบียนรับเงินค่าเยียวยานี้ได้หมด" นายจุติย้ำ

"หากคุณอยู่ในภาคธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมาย คุณก็สามารถลงทะเบียนได้เพราะถือว่าอยู่ในภาคธุรกิจบริการการท่องเที่ยวเหมือนกัน ในช่องของอาชีพ คุณก็เลือกเป็นพนักงานนวดแผนโบราณมาเท่านี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว แต่ถ้ามีข้อสงสัยประการใดก็สามารถสอบถามเงื่อนไขและขอความช่วยเหลือจากพนักงานของเราผ่านคอลเซ็นเตอร์ได้"

"ตอนนี้ไวรัสไม่กลัวแล้วค่ะ กลัวอดตายมากกว่า"

ตลอด 10 ปีที่ น.ส.ฐิติยาพร นุชนารถ ประกอบอาชีพเดินขายสลากกินแบ่งรัฐบาล นี่เป็นครั้งแรกที่เธอพยายามหันไปค้าขายผลไม้ เพื่อหารายได้มาชำระหนี้ที่ค้างไว้กว่า 60,000 บาท จากการกู้ยืมมาเพื่อเป็นทุนในการซื้อสลาก

เงินเยียวยา 5,000 บาท จากรัฐบาลในเดือนแรกถูกโอนมาให้เธอเรียบร้อยแล้ว เธอให้ความเห็นว่าสาเหตุที่ได้รับเงินเนื่องจากว่าเธอมีข้อมูลด้านอาชีพจาก "บัตรกดหวย" ของธนาคารอยู่แล้ว ขณะที่คนตาบอดคนอื่นในหมู่บ้านอีก 6 คน "ถูกแจกจ่ายอาชีพให้เรียบร้อย"

ฐิติยาพร ไม่เห็นด้วยกับมติของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เลื่อนการออกสลากจากงวดวันที่ 1 เม.ย. ให้ไปออกรางวันเป็นวันที่ 16 พ.ค. และมีการงดขายสลาก 3 งวด ได้แก่ งวดวันที่ 16 เม.ย. 2 พ.ค. และ 16 พ.ค. เธอบอกว่าหากประเมินว่าขายได้น้อยลงเธอก็จะลงทุนน้อยลง แต่ไม่จำเป็นต้องหยุดขาย

"หวยมันหยุดขายเราไม่ได้หยุดใช้หนี้หนิ ค่าน้ำค่าไฟเขาไม่ได้ให้เราหยุดจ่าย กินเราก็หยุดกินไม่ได้ ถ้าทุกอย่างมันหยุดได้พร้อมกันหมดก็ดีค่ะ...สำหรับอาชีพขายลอตเตอรี่ มันไม่จำเป็นต้องหยุดนะคะ คนที่เขาอยากซื้อเขาก็ซื้อ ใครที่เขาไม่มีกำลังซื้อเขาก็ไม่ซื้อ เพราะมันไม่ใช่ของกินของใช้ประจำวัน...ลอตเตอรี่มันเป็นความหวังของคนทั้งประเทศอยู่แล้ว มันขายได้อยู่แล้ว" หญิงวัย 31 บอกกับบีบีซีไทย

หลังจากที่ไม่มีการจำหน่ายสลาก เธอจึงผันตัวเองไปขายสินค้าอื่นในตลาด โดยเริ่มจากขายก๋วยเตี๋ยวลุยสวน แต่เนื่องจากต้องใช้มือทำและไม่ผ่านความร้อน จึงทำให้มีลูกค้ากังวลไม่กล้าซื้อ จึงเปลี่ยนไปรับสับปะรดจากตลาดไทมาแบ่งขายตามตลาดเล็ก ๆ

"ตอนนี้ไวรัสไม่กลัวแล้วค่ะ กลัวอดตายมากกว่าค่ะ" เธอกล่าว

BBC

มาตรการเยียวยาของรัฐ

นอกเหนือจากเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบหลายรายออกมาร้องเรียนว่าถูก "เปลี่ยนอาชีพ" ทำให้ไม่ได้รับเงินดังกล่าว จนทางกระทรวงการคลังต้อง "ปิดประตูกระทรวง" หลังมีประชาชนเข้าไปร้องเรียนจำนวนมากในวันที่ 14 เม.ย. โดยให้ผู้ได้รับผลกระทบยื่นอุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ในวันที่ 20 เม.ย.

สำหรับคนพิการกว่า 2 ล้านคน ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวน 1,000 บาท โดยกำหนดจ่ายในเดือนเมษายนเพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในสามมาตรการของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในการช่วยเหลือคนพิการช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดนี้

นอกจากนั้นยังมีมาตรการพักชำระหนี้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นระยะเวลา 12 เดือน และสามารถกู้ยืมกองทุนดังกล่าวได้โดยไม่มีดอกเบี้ย ผ่อนชำระภายใน 5 ปี โดยปลอดชำระหนี้ในปีแรก

บีบีซีไทยสอบถามคนพิการทางการมองเห็นในหลายจังหวัด พบว่าขณะนี้ (16 เม.ย.) ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาคนพิการ 1,000 บาท ขณะที่นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า "กว่าจะได้ก็อาจจะเดือนพฤษภาคม"

'เราไม่ทิ้งกัน' อาจยังไม่เป็นจริง

อย่างไรก็ตามทางสมาคมคนตาบอดได้เปิดรับบริจาคเงิน และตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนตาบอดในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อกระจาย "ถุงยังชีพ" รวมถึงหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ซึ่งได้ดำเนินการแจกจ่ายแล้วกว่า 10,000 ชุด

"คนตาบอดโดยวิถีการใช้ชีวิตเราอยู่กับการสัมผัส เราใช้มือแทนตา เราต้องอยู่กับการสัมผัส สัมผัสคนนำทาง สัมผัสสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ...ในขณะที่ Social Distancing (การเว้นระยะห่างทางสังคม) มันทำให้โรคโควิดฯ อาจจะยุติลง ซึ่งเราก็เห็นด้วย แต่ระยะห่างระหว่างคนนี่เป็นสิ่งที่คนตาบอดกลัว ว่าเขา (คนตาดี) จะไม่กล้าเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรา" ต่อพงศ์ เสลานนท์ กล่าวกับบีบีซีไทย

Getty Images

ต่อพงศ์ ยังให้ความเห็นว่าระบบการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาในเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" ส่งผลให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้น้อยลง เนื่องจากระบบค่อนข้างซับซ้อน โดยยกตัวอย่างการส่งรหัสยืนยัน (OTP) ซึ่งมีระยะเวลาที่สั้น แต่คนตาบอดต้องขอความช่วยเหลือจากคนตาดีในการอ่านรหัสนั้น

"ผมคิดว่าการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่ดูแลกลุ่มคนพิการกับระบบในเรื่องการเงินการคลังมันต้องใกล้ชิดมากกว่านี้ และทำให้มาตรการต่าง ๆ มันได้รับการอำนวยความสะดวกมากกว่านี้ เพื่อทำให้ 'เราไม่ทิ้งกัน' มันเป็นจริง ผมยังไม่อยากใช้บทสรุปว่าเรา (คนตาบอด) ถูกทิ้งแล้วนะ แต่ผมอยากจะบอกว่าเรายังมีความหวังที่จะเข้าถึงสิทธินั้นอยู่" นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง