รีเซต

‘บิ๊กตู่’ อารมณ์ดี ประชุมครม.หลังชิมทุเรียนภูเขาไฟ ชวนไปเที่ยวงาน-อุดหนุนผ่านออนไลน์

‘บิ๊กตู่’ อารมณ์ดี ประชุมครม.หลังชิมทุเรียนภูเขาไฟ ชวนไปเที่ยวงาน-อุดหนุนผ่านออนไลน์
มติชน
7 มิถุนายน 2565 ( 11:23 )
97

‘บิ๊กตู่’ อารมณ์ดีประชุม ครม.หลังชิมทุเรียนภูเขาไฟ ชมความเข้มแข็งเกษตรและวิสาหกิจชุมชน พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ และของดีศรีสะเกษปี 2565 ระหว่างวันที่ 9-15 มิ.ย.นี้

 

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 7 มิ.ย. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)  พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  ได้ให้นายวัฒนา  พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ศรีสะเกษ นำคณะซึ่งประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการและผู้แทนเกษตรกรเข้าพบเพื่อมอบทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ กาแฟโรบัสตาศรีสะเกษ และเนื้อโคขุน ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้คุณภาพ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดศรีสะเกษ แก่นายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยมี พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม โดยนายกรัฐมนตรีได้ชิมทุเรียนภูเขาไฟอย่างอารมณ์ดี

 

นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมาโดยต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก โดยสิ่งที่อยากให้มีการผลักดันเพิ่มเติมคือการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ซึ่งในส่วนของทุนนั้นนอกจากงบประมาณตามโครงการของรัฐในส่วนหนึ่งแล้ว ยังมีส่วนการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ด้วย โดยเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลคือ เกษตรกรมีความเข้มแข็งแล้วสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้เติบโตขึ้นมาเป็นเครือข่ายไปด้วยกัน

 

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมผลผลิตของเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการพัฒนาที่เข้มแข็ง และได้ร่วมชิมทุเรียนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ กาแฟโรบัสตาศรีสะเกษ และผลภัณฑ์จากเนื้อโคขุนด้วย

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า  ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 15,111 ไร่ เกษตรกรจำนวน 2,350 ราย มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 5,721 ไร่ ปริมาณผลผลิตปี 2565 จำนวน 7,522 ตัน โดยส่วนใหญ่เป็นทุเรียนภูเขาไฟมีการปลูกในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กันทรลักษ์ อ.ขุนหาญ และอ.ศรีรัตนะ ซึ่งอัตลักษณ์ของทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษนั้น เนื้อทุเรียนกรอบนอก นุ่มใน หอมละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน เส้นใยละเอียด รสชาติมันค่อนข้างหวาน การปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ทำให้ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วน“กาแฟโรบัสต้าศรีสะเกษ” มีลักษณะโดดเด่น คือรสขมน้อย ความหวานมาก มีบอดี้กำลังดี คาเฟอีนสูง และมีกลิ่นรสผลไม้เด่นชัด เป็นได้ผลผลิตจากการส่งเสริมเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การผลิตได้มาตรฐาน GAP และ GMP  ซึ่งปัจจุบันทั่วจังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่เพาะปลูก 360 ไร่ เกษตรกรจำนวน 400 ราย

 

สำหรับ “เนื้อโคขุน” ได้ผ่านการเลี้ยงด้วยระบบฟาร์มป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม หรือระบบ GFM โดยศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคเนื้อ 564,259 ตัว มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยเกษตรกร100,646 ครัวเรือน  ทำให้ทางจังหวัดมีการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจร มีระบบการผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ได้โคเนื้อแดงที่มีเนื้อนุ่ม เนื้อโคขุนมีไขมันแทรกกำลังดี  ทั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษ คาดว่า ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ภายในจังหวัดจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรประมาณ 80 ล้านบาท แยกเป็นรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตร  30 ล้านบาทและภาคการท่องเที่ยวและบริการ 50 ล้านบาท

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษมีกำหนดจะจัดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษและของดีศรีสะเกษ ปี 2565” ระหว่าง วันที่ 9-15 มิ.ย. 2565 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นกิจกรรมเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนทั้งช่องทางซื้อขายโดยตรงและแบบออนไลน์ และยังเป็นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวการท่องเที่ยว ภายในงานมีการแสดงผลงานทางวิชาการและนวัตกรรมด้านการเกษตร งานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสี่เผ่าของชาวศรีสะเกษ การเสวนาทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 

“นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมในเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษและของดีศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 9-15 มิ.ย. นี้ หากไม่สะดวกเดินทางไปที่งาน ก็สามารถสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งนอกจากการจำหน่ายทุเรียนภูเขาไฟซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อแล้ว ในงานนี้จะมีการจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร สินค้าแปรรูปที่ได้จากโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แปรรูป และการตลาดสินค้าด้านการเกษตร หอมแดง กาแฟโรบัสต้า โคขุนและสินค้าอื่นๆอีกมากมาย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง