รีเซต

สรุปข้อสงสัย บัตรทอง 30 บาท รักษาได้ทุกที่จริงหรือ?

สรุปข้อสงสัย บัตรทอง 30 บาท รักษาได้ทุกที่จริงหรือ?
TNN ช่อง16
7 ตุลาคม 2563 ( 17:10 )
1.6K

นโยบาย "บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่" ที่เพิ่งได้ข้อสรุปมาหมาดๆ โดยเน้นการช่วยลดขั้นตอน แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ หลายคนเริ่มมีข้อสงสัยในหัวเมื่อคิดว่า "รักษาได้ทุกที่ ทุกรพ.จริงๆ หรือ?" แต่ความจริงแล้ว ไม่ได้เป็นแบบนั้น

หากดูตามสิ่งที่ บอร์ด สปสช.อนุมัติ โดยเฉพาะข้อที่ 1 "นโยบาย 30 บาทรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่กับหมอประจำครอบครัว เบื้องต้นนำร่องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งโครงสร้างของระบบบริการมีความพร้อมที่จะเดินหน้าได้ โดยจะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับและเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วย จัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอพพลิเคชั่น มีระบบยืนยันตัวตนการรับบริการผ่านบัตรประชาชน เริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้ "

ในรายละเอียดข้อนี้ เจาะจงว่า "รักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่กับหมอประจำครอบครัว" ประโยคนี้หมายความว่าอะไร?

หน่วยบริการปฐมภูมิ คือ ที่ไหน? สรุปแล้วรักษาได้ทุกที่จริงหรือไม่?

ปัจจุบันผู้ที่มีสิทธิ์ "บัตรทอง" แบ่งเป็น 2 กรณี

1.กรณีสิทธิว่าง


กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยกเลิกบัตรทอง จำนวนกว่า 2 ล้านคน ในระบบจะขึ้นว่าเป็น "สิทธิว่าง" ดังนั้น บุคคลที่เป็นสิทธิว่าง สปสช.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์พิเศษไปเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลที่ไหนก่อนก็ได้ทุกแห่ง โดยนำบัตรประจำตัวประชาชน ซองยาเดิมที่เคยทาน ประวัติการรักษาเดิม (ถ้ามี) ไปใช้รักษาโรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการบัตรทอง คลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน ศูนย์อนามัย หรือ รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นรพ.เอกชน ที่อยู่ในโครงการบัตรทอง ยังขอใช้สิทธิว่างได้

สำหรับกรณีนี้ไม่มีหน่วยบริการปฐมภูมิให้ขอ "ใบส่งตัว" แล้ว เนื่องจากเป็น "สิทธิว่าง" จากการยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการที่ถูกตรวจสอบ สปสช.จึงอนุโลมให้กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าไปใช้บริการก่อน

2.กรณีที่มีสิทธิอยู่ในหน่วยบริการนั้นๆ แล้ว


กลุ่มผู้ที่มีสิทธิอยู่ในคลินิกหรือรพ.ในโครงการบัตรทองแล้ว ไม่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยกเลิกบัตรทอง หรือไม่สะดวกไปรักษาที่หน่วยบริการที่ตนเองมีสิทธิอยู่ สามารถเข้าไปรับบริการตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ในโครงการบัตรทอง ได้แก่ คลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน ศูนย์อนามัย ไม่ใช่รพ. โดยเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.63 เป็นต้นไป นำร่องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล

ส่วนหน่วยบริการระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ อาจจะต้องรอในระยะต่อไป เพื่อให้ไม่ไปเพิ่มความแออัดในรพ. เพราะมีประชาชนเข้าใช้บริการค่อนข้างเยอะ และต้องรอคิวนาน เนื่องจากเป็นการเริ่มที่บริการระดับปฐมภูมิ และก่อนเท่านั้น

สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยทั่วไป ผู้ป่วยนอก ที่ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่รพ. เช่น ไข้หวัดเล็กน้อย อาการเรื้อรัง รับยาเบาหวาน ความดัน แนะนำไปใช้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เรียกว่า อนามัย  คลินิก หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านที่ใดก็ได้ โดยจะมีระบบเชื่อมต่อข้อมูลให้กับประชาชน และหน่วยบริการสามารถเบิกสิทธิ์ค่ารักษาผ่านบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดของผู้ป่วยเหล่านี้ได้ โดยเริ่มวันที่ 1 พ.ย.63 นำร่องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ก่อน

หลังจากนั้น รอฟังประกาศของ สปสช.อีกครั้ง ว่าให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนได้เมื่อใด และจึงไปติดต่อขอลงทะเบียนสิทธิการรักษาในโครงการบัตรทอง

อย่างไรก็ตาม สามารถเช็กรายชื่อ หน่วยบริการที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ที่ (เช็กรายชื่อสถานพยาบาล "บัตรทอง" ที่ยังเปิดอยู่ใน กทม.)


กล่าวโดยสรุปก็คือ

1.ผู้มีสิทธิว่าง ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาบัตรทอง ไปรักษารพ.ใดก็ได้ในโครงการ 30 บาท

2.ผู้ที่มีสิทธิอยู่แล้ว ไม่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาบัตรทอง ไปรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก หรือ อนามัย ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล จากเดิมที่ถูก "เจาะจง" ว่าต้องไปเฉพาะหน่วยบริการที่มีสิทธิเท่านั้น เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.63 เป็นต้นไป เฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล

********** ล้อมกรอบ **********

"หน่วยบริการปฐมภูมิ" คือ บริการที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนและชุมชนมากที่สุด คลินิกชุมชมอบอุ่นที่อยู่ในโครงการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก หรือ อนามัย เป็นต้น ย้ำว่า ไม่ใช่โรงพยาบาล

"หน่วยบริการทุติยภูมิ" คือ บริการที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น เน้นการบริการรักษาพยาบาลโรคที่ยาก ซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนในระดับอำเภอ โรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม

"หน่วยบริการตติยภูมิ และศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง" คือ บริการที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง มีความสลับซับซ้อนมาก มีบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาเฉพาะทาง สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ สถาบันเฉพาะทางต่างๆ หรือหรือสังกัดมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ระบบส่งต่อผู้ป่วย

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง