คาดปัจจัยลบยังรุมเร้าเศรษฐกิจไทย หนุนคนละครึ่งเดินหน้าต่ออัดฉีดเงินในระบบปีหน้าคาดจีดีพีบวก 2.8%
คาดปัจจัยลบยังรุมศก.ไทย - นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563-2564 ว่า ปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจปี 2563-64 คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อทำให้กิจกรรมบางส่วนชะลอตัว ความเปราะบางทางการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าปกติและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกฎหมาย และความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
ส่วนปัจจัยบวกคือการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีความก้าวหน้า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ ภาคการผลิตและบริการทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวหลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และธนาคารกลางทั่วโลกปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย
ทำให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ในปี 2563 จะติดลบ 6.3% ส่วนปีหน้าจะขยายตัว 2.8% ส่วนการส่งออกปีนี้จะติดลบ 7.4% ปีหน้าขยายตัว 3.5% ส่วนปีนี้เงินเฟ้อติดลบ 0.9% ขณะที่เงินเฟ้อปีหน้าขยายตัว 1%
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบ ต่อเนื่องในปี 2564 ก็คือ โครงการคนละครึ่ง เพื่อจะได้มีเม็ดเงินมาชดเชยเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ที่เห็นว่าเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่เม็ดเงินจากการส่งออกอาจหายไป 1-2 แสนล้านบาท จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลทำให้ราคาสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
โดยทิศทางค่าเงินบาทของไทยเชื่อว่าจะยังคงแข็งค่า จากเงินไหลเข้าและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยในการดูแลค่าเงินบาท แต่จะใช้กลไกที่มีรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน และในกรณีที่สหรัฐจับตาประเทศไทยมีการแทรกแซงค่าเงินนั้น เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะชี้แจงกรณีดังกล่าวได้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีเจตนาในเรื่องของการบิดเบือนค่าเงิน แต่เป็นการดูแลเพื่อที่จะสกัดการเก็งกำไร