รีเซต

ไข้หวัดใหญ่โอกาสขึ้นสมอง-ทำลายอวัยวะภายใน

ไข้หวัดใหญ่โอกาสขึ้นสมอง-ทำลายอวัยวะภายใน
TNN ช่อง16
24 มิถุนายน 2567 ( 13:26 )
49
ไข้หวัดใหญ่โอกาสขึ้นสมอง-ทำลายอวัยวะภายใน

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  เปิดเผยถึงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ว่า  ด้วยสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ไวรัสจำนวนไม่น้อยอยู่ในอากาศนานกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ  ซึ่งในแต่ละปีองค์การอนามัยโลกจะคาดการณ์ว่าจะมีไวรัสสายพันธุ์ใดระบาดเพิ่มขึ้น โดยไวรัสบางตัวเกิดการกลายพันธุ์ทำให้หลุดออกจากข้อมูลที่มีการคาดการณ์ ขณะเดียวกันการเดินทางของประชาชนทั่วโลกที่สะดวกมากขึ้นยิ่งทำให้การแพร่ระบาดเกิดเร็ว ทำให้บางคนที่มีอาการระหว่างเดินทางเข้ามาในประเทศ ไม่มีการแจ้งให้ทราบ  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากหลังสถานการณ์ โควิด-19 การคัดกรองเริ่มผ่อนผันลง ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการคาดการณ์สามารถแพร่ระบาดได้ ซึ่งสายพันธุ์ใหม่อาจจะมีความสามารถในการทำลายอวัยวะภายใน ระบบทางเดินหายใจ คนไข้ที่มีความเสี่ยงอาการก็จะเกิดความรุนแรงขึ้น เช่น กลุ่มเด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน และควรได้รับการฉีด 


และเตือนไปยังกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกปีเนื่องจากการกลายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่และไวรัสอื่นๆเกิดได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต การฉีดทุกปีจะเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น


ส่วนกรณีที่ที่ไข้หวัดใหญ่จะขึ้นสมองได้หรือไม่นั้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส และยืนยันว่าสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก รวมถึงไวรัสบางชนิด ยัง สามารถทำลายปอด ทางเดินอาหาร และอวัยวะภายในได้โดยเช่นกัน โดยแนะนำประชาชนทุกกลุ่มให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ในที่ที่มีผู้คนแออัด และหมั่นล้างมืออยู่เสมอเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่


สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคฯ ของกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 20 มิถุนายน 2567 มีรายงานผู้ป่วย 186,900 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 14 ราย พบในจังหวัดนครราชสีมา 5 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย ชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี กรุงเทพมหานคร สุโขทัย สมุทรปราการ ภูเก็ต และกาฬสินธุ์ จังหวัดละ 1 ราย 


ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในประเทศไทยเฉพาะพื้นที่ (Sentinel Surveillance) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 - 16 มิถุนายน 2567 โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จำนวน 2,284 ราย พบว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A/H3N2 จำนวน 1,044 ราย (ร้อยละ 45.71) ชนิด B จำนวน 619 ราย (ร้อยละ 27.10) ชนิด A/H1N1 (2009) จำนวน 594 ราย (ร้อยละ 26.14) และชนิด A ไม่ระบุสายพันธุ์ จำนวน 24 ราย (ร้อยละ 1.05)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง